แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่ บ. และระบุไว้ในพินัยกรรมว่า บุคคลอื่นใดที่มิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมนี้ไม่มีสิทธิรับมรดกของข้าฯ มิได้ระบุไว้ให้ชัดเจนว่าตัวผู้คัดค้านมิให้รับมรดก จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการตัดผู้คัดค้านมิให้รับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1608
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายแต๋ว พุ่มริ้วผู้ตาย ผู้ตายทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก และต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2536 ผู้ตายถึงแก่กรรม ผู้ร้องมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก โดยไม่สามารถโอนที่ดินของผู้ตายให้แก่ทายาทได้เพราะเจ้าพนักงานที่ดินอ้างว่าต้องมีคำสั่งศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อน ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งเกิดกับนางส้มเกลี้ยง พุ่มริ้ว โดยผู้ตายกับนางส้มเกลี้ยงเป็นสามีภริยากันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ตายยังมีทรัพย์มรดกนอกเหนือจากที่ระบุให้พินัยกรรมและที่ผู้ร้องระบุในคำร้อง โดยมีเงินฝากที่ธนาคารผู้ร้องมีพฤติการณ์ปิดบังยักย้ายและยักยอกทรัพย์มรดก ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกทรัพย์นอกพินัยกรรม ผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกทรัพย์นอกพินัยกรรมของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายกริช พุ่มริ้ว ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนายแต๋ว พุ่มริ้ว ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายยกคำคัดค้านของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งนายสำรวย พุ่มริ้ว ผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกของนายแต๋วพุ่มงิ้ว ผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังยุติได้ว่า ผู้ร้องกับผู้คัดค้านต่างเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายแต๋ว พุ่มงิ้ว ผู้ตายโดยผู้คัดค้านเป็นบุตรซึ่งเกิดกับนางส้มเกลี้ยง พุ่มริ้ว ภริยาคนแรก ส่วนผู้ร้องเป็นบุตรซึ่งเกิดกับนางบุญมี พุ่มริ้ว ภริยาคนที่สองโดยจดทะเบียนสมรสภายหลัง เมื่อนางส้มเกลี้ยงถึงแก่กรรมแล้วผู้ตายได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดิน 2 แปลง ให้แก่นางบุญมี และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 นอกจากที่ดินตามพินัยกรรมดังกล่าวแล้ว ผู้ตายยังมีที่ดินอีก 3 แปลง ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.4 ถึงร.6 มีลูกหนี้เงินกู้และเงินสดอีกจำนวนหนึ่ง คดีมีปัญหาข้อแรกตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิร้องคัดค้านและขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้หรือไม่ ซึ่งผู้ร้องฎีกาว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่นางบุญมี และระบุไว้ในพินัยกรรมข้อ 3 ว่า “บุคคลอื่นใดที่มิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมนี้ ไม่มีสิทธิรับมรดกของข้าฯ แต่อย่างใด” แสดงว่าผู้ตายมีเจตนายกทรัพย์มรดกทั้งตามพินัยกรรมและนอกพินัยกรรมให้แก่นางบุญมีแต่เพียงผู้เดียว และเป็นการตัดผู้คัดค้านมิให้รับมรดกผู้คัดค้านจึงไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ไม่มีสิทธิร้องคัดค้านและขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เห็นว่า ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องจะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวไว้โดยชัดแจ้งในคำแก้อุทธรณ์ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 ตัวทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกนั้นต้องระบุไว้ให้ชัดเจน แต่ตามข้อความในพินัยกรรมข้อ 3 ดังกล่าว มิได้ระบุไว้ให้ชัดเจนว่าตัดผู้คัดค้านมิให้รับมรดก จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการตัดผู้คัดค้านมิให้รับมรดก และเมื่อผู้ตายยังมีทรัพย์มรดกอื่นนอกจากทรัพย์มรดกที่ยกให้แก่นางบุญมีตามพินัยกรรม ผู้คัดค้านในฐานะทายาทจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรม มีสิทธิร้องคัดค้านและขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้น