แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยผู้อาศัยออกจากห้องพิพาทที่โจทก์เช่าจากเจ้าของ ซึ่งในขณะยื่นคำฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละสองพันบาทจำเลยให้การว่าจำเลยเป็นผู้เช่าห้องพิพาทโดยมอบให้โจทก์ทำสัญญาเช่าแทนแม้จะเป็นการเถียงสิทธิการเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยว่าใครเป็นผู้เช่าห้องพิพาทจากเจ้าของก็ตามก็ไม่เรียกว่าเป็นการกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง
แม้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาข้อเท็จจริงได้แต่เมื่อข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เพราะต้องห้ามอุทธรณ์จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา249
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยออกจากห้องพิพาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกอุทธรณ์จำเลย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาว่า อุทธรณ์ของจำเลยไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยผู้อาศัยออกจากห้องพิพาทที่โจทก์เช่าจากเจ้าของ ซึ่งในขณะยื่นคำฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละสองพันบาท จำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ และที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยเป็นผู้เช่าห้องพิพาท โดยจำเลยมอบให้โจทก์ทำสัญญาเช่าแทนนั้น แม้จะเป็นการเถียงสิทธิการเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยว่าใครเป็นผู้เช่าห้องพิพาทจากเจ้าของก็ตาม ก็ไม่เรียกว่าเป็นการกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ คดีนี้จึงต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงของจำเลยจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าห้องพิพาทแทนจำเลย จำเลยจึงอยู่ในห้องพิพาทโดยมิได้อาศัยโจทก์ และปรากฏข้อเท็จจริงขึ้นในระหว่างพิจารณาสืบพยานจำเลยว่า กรมธนารักษ์ได้สั่งให้จังหวัดนครราชสีมาเลิกสัญญาเช่าห้องพิพาทกับโจทก์ ตั้งแต่วันครบอายุสัญญาปี พ.ศ. 2520 แล้วจังหวัดนครราชสีมาได้ทำสัญญาให้จำเลยเป็นผู้เช่าห้องพิพาทโดยตรงเมื่อวันที่ 19กันยายน 2521 ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาเกือบ 2 เดือน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาข้อเท็จจริงได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เพราะต้องห้ามอุทธรณ์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน