คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5103/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การส่งหนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากร มาตรา 8 วรรคหนึ่งแห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้ส่งได้ 2 วิธี คือ วิธีส่ง โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและวิธีให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่งเฉพาะวิธีให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่ง ถ้าไม่พบ ผู้รับ ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของผู้รับจะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับก็ได้ ส่วนการส่งหนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร มิได้บัญญัติว่าในกรณีที่ไม่พบผู้รับจะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วก็ได้ ดังนั้น การส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับจึงอยู่ในบังคับของไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2519 ข้อกำหนดในไปรษณียนิเทศดังกล่าวมิได้กำหนดอายุผู้แทนของผู้รับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ไว้ ดังนั้นบุคคลซึ่งอยู่ในบ้านเรือนเดียวกันกับผู้รับแม้ยังไม่บรรลุนิติภาวะก็เป็นผู้แทนของผู้รับได้ กรณีไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ทวิ และ 76มาอนุโลมใช้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของโจทก์และภริยา
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2537 แต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2537 เกินกำหนดเวลา30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร โดยโจทก์มิได้ยื่นขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงวินิจฉัยไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยข้อกฎหมายขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2530 พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงิน 11,589,610 บาทภาษีการค้าสำหรับเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2530 พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงิน 1,781,938 บาท และส่งหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหนังสือแจ้งภาษีการค้าไปให้โจทก์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับที่บ้านเลขที่ 43/106 หมู่ที่ 3ถนนพหลโยธิน (ฝั่งขวา) แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขนกรุงเทพมหานคร โดยโจทก์มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ดังกล่าวขณะที่บุรุษไปรษณีย์นำหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหนังสือแจ้งภาษีการค้าไปส่ง บ้านเลขที่ 43/106 อยู่ในระหว่างการซ่อมแซม ไม่มีผู้อยู่อาศัย เด็กชายธีระยุทธ ปาลวัฒน์วิไชยบุตรโจทก์อายุ 12 ปี และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 43/106เช่นเดียวกับโจทก์ได้ไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 43/100ซึ่งปลูกอยู่ในรั้วเดียวกันกับบ้านเลขที่ 43/106 เด็กชายธีระยุทธได้ลงลายมือชื่อรับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหนังสือแจ้งภาษีการค้าไว้แทนโจทก์ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2537 ตามใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 26 โจทก์ไม่นำเงินภาษีอากรไปชำระตามกำหนดเจ้าพนักงานสรรพากรเขตบางเขน จึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำเงินภาษีอากรไปชำระตามเอกสารหมาย จ.10แผ่นที่ 1 ถึง 3 ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2537 โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีมติว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดเวลาตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากรและไม่รับคำอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า การส่งหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหนังสือแจ้งภาษีการค้ามีผลเช่นเดียวกับการส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้อง จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 73 ทวิ และมาตรา 76 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อปรากฏว่าบ้านเลขที่ 43/106 ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ไม่มีคนอยู่อาศัยเพราะกำลังซ่อมแซม เด็กชายธีระยุทธบุตรโจทก์อายุ 12 ปีลงลายมือชื่อรับเอกสารดังกล่าวไว้แทนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่า การส่งหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหนังสือแจ้งภาษีการค้า ประมวลรัษฎากรบัญญัติวิธีการส่งไว้ในมาตรา 8 โดยเฉพาะแล้วจึงจะนำบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ว่าด้วยการส่งคำคู่ความและเอกสารมาใช้บังคับหาได้ไม่ ซึ่งประมวลรัษฎากรมาตรา 8 วรรคหนึ่ง “หมายเรียกหนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรหรือหนังสืออื่นซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะนี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของบุคคลนั้นในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของบุคคลนั้น ถ้าไม่พบผู้รับณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของผู้รับจะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับนั้นก็ได้” เห็นได้ว่า การส่งหนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้ส่งได้ 2 วิธี คือ วิธีส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและวิธีให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่งและเฉพาะวิธีให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่ง ถ้าไม่พบผู้รับ ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของผู้รับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับก็ได้ ส่วนการส่งหนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร มิได้บัญญัติว่าในกรณีที่ไม่พบผู้รับจะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วก็ได้ ดังนั้น การส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับจึงอยู่ในบังคับของไปรษณียนิเทศ การส่งหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหนังสือแจ้งภาษีการค้าที่พิพาทกันในคดีนี้เป็นการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ซึ่งมาตรา 8แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้กระทำได้ และอยู่ในบังคับของไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ที่ใช้บังคับในขณะที่พิพาทกันในคดีนี้ ไปรษณียนิเทศดังกล่าวมีข้อกำหนดว่า
ข้อ 572 สิ่งของส่งทางไปรษณีย์อาจนำจ่ายให้แก่ผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับก็ได้
ข้อ 573 ในกรณีนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับ กสท. ถือว่าบุคคลต่อไปนี้เป็นผู้แทนของผู้รับคือ
573.1 บุคคลซึ่งอยู่ในบ้านเรือนเดียวกันกับผู้รับ เช่นพ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ลูก หลาน ผู้อาศัย คนรับใช้ เป็นต้น
ข้อ 575 สิ่งของส่งทางไปรษณีย์ที่นำจ่ายให้แก่ผู้แทนของผู้รับให้ถือว่าได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับแล้วนับแต่วันเวลาที่นำจ่าย
ข้อกำหนดในไปรษณียนิเทศดังกล่าวมิได้กำหนดอายุผู้แทนของผู้รับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ไว้ ดังนั้น บุคคลซึ่งอยู่ในบ้านเรือนเดียวกันกับผู้รับ แม้ยังไม่บรรลุนิติภาวะก็เป็นผู้แทนของผู้รับได้ เด็กชายธีระยุทธบุตรโจทก์อยู่บ้านเรือนเดียวกับโจทก์จึงเป็นผู้แทนโจทก์ตามข้อ 573.1 แม้ขณะที่บุรุษไปรษณีย์นำหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมและภาษีการค้าไปส่งนั้น บ้านเลขที่ 43/106 อันเป็นที่อยู่ของโจทก์จะอยู่ในระหว่างการซ่อมแซมและเด็กชายธีระยุทธได้ไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 43/100แต่เด็กชายธีระยุทธก็ยังคงมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 43/106 หาได้แจ้งย้ายออกไปอยู่ที่อื่นไม่ จึงเป็นกรณีที่เด็กชายธีระยุทธไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 43/100 ซึ่งปลูกอยู่ในบริเวณรั้วเดียวกันกับบ้านเลขที่ 43/106 เป็นการชั่วคราว ในระหว่างที่มีการซ่อมแซมบ้านเลขที่ 43/106 ถือได้ว่าโจทก์และเด็กชายธีระยุทธยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 43/106 เมื่อเด็กชายธีระยุทธได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหนังสือแจ้งภาษีการค้า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2537 จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รับแล้วตั้งแต่วันที่24 มีนาคม 2537 ตามข้อ 575 กำหนดเวลา 30 วัน ตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2537และสิ้นสุดลงในวันที่ 23 เมษายน 2537 โจทก์จะอ้างว่าในวันที่24 มีนาคม 2537 ที่เด็กชายธีระยุทธได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหนังสือแจ้งภาษีการค้านั้น โจทก์อยู่ที่อื่น โจทก์เพิ่งได้รับหนังสือแจ้งให้นำเงินภาษีอากรไปชำระตามเอกสารหมาย จ.10 แผ่นที่ 1 ถึง 3 เมื่อปลายเดือนเมษายน2537 โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2537 เป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด30 วัน หาได้ไม่ เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกินกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน

Share