คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 51/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นช่างแต่งผมชาย ใช้สถานที่ของจำเลยเปิดบริการ ลูกค้าโดยจำเลยเป็นผู้จัดหาสถานที่ โต๊ะ เก้าอี้ และ ของใช้ต่าง ๆ ส่วนโจทก์มีกรรไกร ปัตตะเลี่ยน เครื่องมือใช้เช็ด หู รายได้จากการแต่งผมชายของโจทก์แบ่งกันคนละครึ่ง ระหว่างโจทก์กับจำเลย โดยจำเลยจ่ายส่วนที่จะได้แก่โจทก์ ให้โจทก์ทุกวันที่ 1 และ 16 ของแต่ละเดือน ได้มีการตกลง เรื่องระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่า โจทก์ต้อง ตอกบัตรลงเวลาการทำงาน หากโจทก์ไม่มาทำงานหรือมาทำงานสาย ในวันใด โจทก์จะถูกหักค่าจ้าง โจทก์ได้รับบัตรประจำตัว พนักงานจากจำเลยเพื่อแสดงว่าเป็นพนักงานและจำเลยใช้ตรวจสอบ ในการอนุมัติให้เข้าออกบริเวณสถานที่ของจำเลย โจทก์ทำงาน สัปดาห์ละ 6 วัน เห็นได้ว่าโจทก์มีเวลาทำงานปกติของ วันทำงาน จำเลยมีอำนาจสั่งการและบังคับบัญชาให้โจทก์ ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กำหนดเวลา ทำงานและตรวจสอบเวลาทำงานของโจทก์ กับมีอำนาจหักรายได้ของโจทก์ในกรณีที่โจทก์ขาดงานหรือมาทำงานสาย และเงินรายได้ จากการแต่งผมที่จ่ายให้โจทก์ก็คำนวณได้ตามผลงานที่โจทก์ ทำได้ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเช่นนี้ ถือได้ว่า โจทก์ทำงานให้แก่จำเลย เพื่อรับค่าจ้างโดยคำนวณค่าจ้าง ตามผลงานที่โจทก์ทำได้ โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลย มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 4,000 บาท ค่าชดเชย 24,000บาท ค่าเสียหายที่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเงิน 48,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลทำกิจการโรงแรมชื่อ “พาวิเลี่ยน” มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงกันว่าเครื่องมือและวัสดุเครื่องใช้เป็นของจำเลยที่ 1 รายได้มากน้อยจะอยู่ที่ผลงานของโจทก์ โดยโจทก์จะได้รับทุกวันที่ 3 และ 17ของเดือน หลังจากแบ่งครึ่งระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1การทำงานถือเอาผลสำเร็จของงานทั้งหมดเป็นเงื่อนไขในการจ่ายค่าจ้าง จึงไม่เป็นสัญญาจ้างแรงงานโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย โจทก์ได้รับค่าจ้างไม่เกินเดือนละ 2,500 บาทจำเลยมีกฎระเบียบให้โจทก์ต้องปฏิบัติก็เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการบริหารงาน จำเลยแจ้งพนักงานทุกคนทราบเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2535 ว่าต้องทุบโรงงาน แต่ให้พนักงานไปทำงานกับจำเลยที่จังหวัดกาญจนบุรีแทน ขอให้ยกฟ้องโจทก์
วันนัดพิจารณา โจทก์จำเลยทั้งสองแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าโจทก์ได้เขียนใบสมัครเข้าทำงานเป็นพนักงานจำเลยในระหว่างที่ทำงานโจทก์ต้องลงเวลาเข้าออกทำงานตามเอกสารหมาย จ.3โดยจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือนเมื่อโจทก์ประสงค์จะไปข้างนอกในเวลาทำงาน โจทก์จะต้องแจ้งฝ่ายการเงิน ฝ่ายบุคคล ยาม โดยนางสาวอุษมา แก้วสวาทจะเป็นผู้อนุมัติ หากโจทก์มาสายจะหักค่าจ้างนาทีละ 1 บาทหากไม่มาทำงานจะหักค่าจ้างวันละ 100 บาท โจทก์พักที่ห้องพักพนักงานโดยจ่ายค่าบำรุงเดือนละ 100 บาท และชำระค่าน้ำค่าไฟฟ้าแต่ละเดือนเท่าที่ใช้จริง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยการที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะทุบอาคารโรงแรมทิ้งเพื่อสร้างใหม่ จึงไม่มีสถานที่ทำงานให้โจทก์แต่งผม ถือเป็นการเลิกจ้าง แต่ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย แต่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหาย พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าชดเชย 21,046 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยทั้งสอง พิเคราะห์แล้ว จากข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่รับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นช่างแต่งผมชาย ใช้สถานที่ของจำเลยที่ 1 เปิดบริการลูกค้าโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาสถานที่ โต๊ะ เก้าอี้ และของใช้ต่าง ๆส่วนโจทก์มีกรรไกร ปัตตะเลี่ยน เครื่องมือใช้เช็ด หู รายได้จากการแต่งผมชายของโจทก์แบ่งกันคนละครึ่งระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 จ่ายส่วนที่จะได้แก่โจทก์ ให้โจทก์ทุกวันที่ 1 และ 16 ของแต่ละเดือน ได้มีการตกลงเรื่องระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่า โจทก์ต้องตอกบัตรลงเวลาการทำงาน หากโจทก์ไม่มาทำงานหรือมาทำงานสายในวันใด โจทก์จะถูกหักค่าจ้างโจทก์ได้รับบัตรประจำตัวพนักงานจากจำเลยที่ 1เพื่อแสดงว่าเป็นพนักงาน และจำเลยที่ 1 ใช้ตรวจสอบในการอนุมัติให้เข้าออกบริเวณสถานที่ของจำเลยที่ 1 โจทก์ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน เห็นได้ว่าโจทก์มีเวลาทำงานปกติของวันทำงานจำเลยที่ 1 มีอำนาจสั่งการและบังคับบัญชาให้โจทก์ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กำหนดเวลาทำงานและตรวจสอบเวลาทำงานของโจทก์กับมีอำนาจหักรายได้ของโจทก์ในกรณีที่โจทก์ขาดงานหรือมาทำงานสาย และเงินรายได้จากการแต่งผมที่จ่ายให้โจทก์ก็คำนวณได้ตามผลงานที่โจทก์ทำได้จึงเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์ทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อรับค่าจ้างโดยคำนวณค่าจ้างตามผลงานที่โจทก์ทำได้คดีฟังได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยทั้งสอง
พิพากษายืน

Share