คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 51/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2516 เวลากลางคืน ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ในอำนาจศาลทหารพิจารณาพิพากษาตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ลงวันที่ 17 พ.ศ.2514 แม้ต่อมามีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 พ.ศ.2517 มาตรา 3 ยกเลิกความผิดบางประเภทรวมทั้งความผิดนี้ แต่มาตรา 4 ให้คดีที่เกิดขึ้นในหรือหลังวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 เวลา 20.11 นาฬิกา จนถึงวันที่ 20 มีนาคม 2517 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คงอยู่ในอำนาจศาลทหาร พิจารณาพิพากษา และแม้จะมีประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางจังหวัดลงวันที่ 18 มีนาคม 2517 ให้ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกในบางจังหวัดรวมทั้งจังหวัดฉะเชิงเทราด้วย ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2517 เวลา 6.00 นาฬิกา เป็นต้นไปก็ตามแต่พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 36 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2503มาตรา 4 ก็บัญญัติว่า เมื่อเลิกใช้กฎอัยการศึกศาลทหารยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ค้างอยู่ในศาล หรือที่ยังมิได้ฟ้องเช่นคดีนี้ได้ฉะนั้น ศาลพลเรือนจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราและศาลอุทธรณ์รับคำฟ้องและดำเนินการพิจารณาพิพากษามา จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจศาล คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไม่มีผลบังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2516 เวลากลางคืน จำเลยกับพวกอีก 1 คนร่วมกันชิงทรัพย์เครื่องรับวิทยุ 1 เครื่องของผู้เสียหายในเขตท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 83ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์และนับโทษต่อจากโทษในคดีอื่น

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นจำเลยคนเดียวกับจำเลยในคดีที่ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14 จำคุก 10 ปี นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 873/2517 ของศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2516เวลากลางคืน ที่ตำบลดอนเกาะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุคดีนี้ ความผิดดังกล่าวอยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษาตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514ที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และกำหนดให้ความผิดบางประเภทอยู่ในอำนาจศาลทหาร แม้ต่อมาจะได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 พ.ศ. 2517ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2517 ในมาตรา 3 ให้ยกเลิกความผิดบางประเภทรวมทั้งความผิดที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ด้วย แต่ก็ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ว่าคดีที่เกิดขึ้นในหรือหลังวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 เวลา 20.11 นาฬิกา จนถึงวันประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้คดียังคงอยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษา และแม้จะมีประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางจังหวัดลงวันที่ 18 มีนาคม 2517 ให้ยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกในบางจังหวัดรวมทั้งจังหวัดฉะเชิงเทราด้วย ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม2517 เวลา 6.00 นาฬิกาเป็นต้นไปก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 36 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2503 มาตรา 4 ก็ได้บัญญัติว่า เมื่อเลิกใช้กฎอัยการศึก ศาลทหารยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ค้างอยู่ในศาลหรือที่ยังมิได้ฟ้องเช่นคดีนี้ได้ ฉะนั้นถึงโจทก์จะยื่นฟ้องต่อศาลพลเรือนภายหลังเวลาที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 พ.ศ. 2517 ประกาศใช้และมีประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในท้องที่ที่เกิดเหตุแล้ว ศาลพลเรือนก็หามีอำนาจพิจารณาพิพากษาไม่ การที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราและศาลอุทธรณ์ได้รับคำฟ้องและดำเนินการพิจารณาพิพากษามาเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจศาล คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไม่มีผลบังคับ

พิพากษาให้ยกฎีกาจำเลยและคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองเสีย

Share