แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของกรมศุลกากรจำเลยที่ 1 ตรวจสินค้าของโจทก์แล้วพบว่าโจทก์กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 60,99 และดำเนินคดีแก่โจทก์ ซึ่งตามมาตรา 60 บัญญัติให้ริบสินค้าเสียสิ้นเมื่อจำเลยที่ 1 ยึดสินค้าไว้เป็นของกลางเพื่อดำเนินการริบตามมาตรา 60 สินค้าดังกล่าวจึงอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 กรณีหาใช่เพียงแต่อยู่ในความรักษาหรือตรวจตราดูแลของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 117 ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์กระทำความผิดตามมาตรา 99 เท่านั้น และยอมให้โจทก์ส่งสินค้ากลับออกไปนอกราชอาณาจักรได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนสินค้าแก่โจทก์ เมื่อสินค้าสูญหายก็ต้องใช้ราคา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปลายปี 2533 โจทก์ซื้อเส้นด้ายฝ้ายใยสั้นจากผู้ขายซึ่งอยู่ที่เมืองฮ่องกง หนัก 3,810.17 กิโลกรัม และนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่ปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวไม่ได้มาตรฐาน ครั้นวันที่ 12 มิถุนายน 2534โจทก์ได้ส่งสินค้าหนัก 929.81 กิโลกรัม ราคา 171,154.24 บาท คืนแก่ผู้ขายทางเรือซึ่งต้องผ่านขั้นตอนการส่งออกตามระเบียบและวิธีการที่จำเลยที่ 1 กำหนด วันที่ 17 เดือนเดียวกันจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันตรวจสินค้าของโจทก์แล้วดำเนินคดีแก่โจทก์ฐานยื่นคำขออันเกี่ยวกับของอันเป็นเท็จเป็นการทุจริตเพื่อขอคืนอากรขาเข้า และยึดสินค้าของโจทก์ไว้ โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1พิจารณาอุทธรณ์แล้วเห็นว่า การกระทำของโจทก์เป็นความผิดฐานสำแดงเมืองกำเนิดของสินค้าไม่ตรงกับความเป็นจริง เห็นควรให้ทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากรโดยเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 50,000 บาท โจทก์ชำระค่าปรับจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จากนั้นได้ติดต่อขอสินค้าคืนจากจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามแจ้งว่าสินค้าสูญหายและไม่ยอมชดใช้ราคาสินค้าแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันคืนสินค้าแก่โจทก์หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันชำระเงินจำนวน 171,154.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันตรวจสินค้าของโจทก์แล้วปรากฏว่าน้ำหนักของสินค้าเมืองกำเนิดของสินค้าสภาพของสินค้าไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในใบขนส่งสินค้าอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 จำเลยที่ 2และที่ 3 จึงดำเนินคดีแก่โจทก์และกักสินค้าของโจทก์ไว้เพื่อรอการวินิจฉัยของจำเลยที่ 1การกักสินค้าไว้ดังกล่าวกระทำโดยโจทก์เป็นผู้จัดหาตู้เก็บสินค้าและสถานที่เก็บสินค้าส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคล้องลวดกับประทับตรา กศก. และหมายเลข 143ลงบนตะกั่วไว้ที่ตู้เก็บสินค้าเพื่อป้องกันมิให้มีการเปิดตู้ก่อนได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 จากนั้นโจทก์มีหน้าที่ขนย้ายสินค้าไปยังสถานที่เก็บและเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งสิ้นอันเป็นขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบสินค้าส่งออกกรณีพบการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 จำเลยทั้งสามมิได้ยึดสินค้าของโจทก์ไว้เป็นของกลางสินค้ายังอยู่ในความครอบครองของโจทก์ ทั้งตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 117 กำหนดข้อยกเว้นความผิดของจำเลยที่ 1 ไว้ด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเส้นด้ายฝ้ายใยสั้นตามใบขนสินค้าขาออกเลขที่ 1064-3-1243 ถึง 1064-3-1246 รวมน้ำหนัก 929.81 กิโลกรัม แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 171,154.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 28 กันยายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 2สิงหาคม 2537 ให้ได้ไม่เกิน 38,509.70 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อปลายปี 2533โจทก์นำสินค้าเส้นด้ายฝ้ายใยสั้นเข้ามาในราชอาณาจักร ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2534โจทก์ส่งสินค้าดังกล่าวหนัก 929.81 กิโลกรัม ราคา 171,154.24 บาท คืนแก่ผู้ขายที่เมืองฮ่องกงทางเรือ จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1ร่วมกันตรวจสินค้าดังกล่าว แล้วดำเนินคดีแก่โจทก์ในความผิดฐานยื่นคำขออันเกี่ยวกับของอันเป็นเท็จเป็นการทุจริตเพื่อขอคืนอากรขาเข้า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 60, 99 และนำสินค้าดังกล่าวเก็บไว้ในตู้เก็บสินค้าแล้วผนึกตะกั่วประทับตรา กศก. และหมายเลข 143 ลงบนตะกั่วที่ตู้เก็บสินค้า โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วให้โจทก์ทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากรโดยเปรียบเทียบปรับ 50,000 บาท แล้วให้โจทก์ส่งสินค้ากลับออกไปนอกราชอาณาจักรได้ โจทก์ชำระค่าปรับแล้ว แต่เมื่อไปขอรับสินค้าคืนปรากฏว่าสินค้าสูญหายไป ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกตรวจสินค้าของโจทก์แล้วพบว่าโจทก์กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 60, 99 และดำเนินคดีแก่โจทก์ ซึ่งตามมาตรา 60 บัญญัติให้ริบสินค้าเสียสิ้น นายวิวุฒิ กลางประพันธ์ พยานจำเลยทั้งสามผู้ร่วมตรวจสินค้าเบิกความว่า พยานกับพวกตรวจยึดสินค้าดังกล่าวแล้วพยานนำไปฝากไว้ในตู้เก็บสินค้าของบริษัทผู้รับบรรจุสินค้าโดยผนึกตะกั่วประทับตราของจำเลยที่ 1ไว้ การเปิดตู้เก็บสินค้าจะกระทำมิได้เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ก่อน และถือว่าสินค้าดังกล่าวอยู่ในความอารักขาของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ยึดสินค้าดังกล่าวไว้เป็นของกลางเพื่อดำเนินการริบตามมาตรา 60 สินค้าดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 กรณีหาใช่เพียงแต่อยู่ในความรักษาหรือตรวจตราดูแลของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 117 ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์กระทำความผิดตามมาตรา 99 เท่านั้น และยอมให้โจทก์ส่งสินค้าดังกล่าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรได้จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนสินค้าดังกล่าวแก่โจทก์ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน