คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 51/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ข้อความในตอนต้นของมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 จะได้บัญญัติไว้ว่า การพิจารณาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนให้พยายามทำโดยไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายวิธีพิจารณาโดยเคร่งครัดก็ตาม แต่การที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีไปได้หรือไม่ อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะพึงสั่งตามพฤติการณ์ที่เห็นสมควรเป็นราย ๆ ไป เมื่อพฤติการณ์ที่โจทก์แสดงมาไม่มีเหตุสมควรที่จะให้เลื่อนคดีไป ศาลก็ชอบที่จะสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีได้

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในความครอบครองไม่รับอนุญาต แล้วใช้อาวุธปืนนั้นต่อสู้ขัดขวางยิงจ่าสิบตำรวจทวีโดยเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนไม่ลั่น ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72, (ฉบับที่ 4 ) พ.ศ. 2510 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 80, 371 และสั่งริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืน และฐานพกพาอาวุธไปในทางสาธารณะ ส่วนข้อหาต่อสู้ขัดขวาง พยายามฆ่าเจ้าพนักงานปฏิเสธ

วันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์แถลงว่าไม่ได้ยื่นบัญชีพยาน และไม่ได้ขอหมายพยานเพราะส่งสำนวนไปกรมตำรวจเพื่อวินิจฉัยข้อหาบางข้อหลังจากฟ้องแล้วประมาณ 20 วัน ตำรวจเพิ่งส่งสำนวนคืนมาเมื่อ 4-5 วันมานี้ จึงไม่ได้ระบุพยาน ขอเลื่อนไปนัดหน้า

ที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยแถลงขอให้ศาลตัดพยานเพราะโจทก์ไม่ได้ระบุพยานก่อนวันสืบพยานซึ่งควรจะทำได้โดยไม่มีเหตุผลสมควรขอให้นัดสืบพยานจำเลย

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เมื่อโจทก์ไม่ได้ระบุพยานหรือยื่นบัญชีพยาน ถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ ไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้เลื่อนคดีไป ส่วนที่จำเลยขอสืบพยานนั้น ศาลวินิจฉัยคดีได้เองโดยไม่ต้องฟังพยานจำเลยจึงให้งดสืบพยานจำเลยแล้วพิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72; (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ข้อหานอกนั้นยก ให้ปล่อยตัวไป

โจทก์อุทธรณ์ว่า มีเหตุสมควรที่ศาลควรอนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาไป โจทก์ยังมิได้แถลงว่าจะไม่สืบพยาน จึงถือว่าการพิจารณายังไม่เสร็จ ศาลไม่ควรพิพากษาก่อนฟังพยานหลักฐานโจทก์ ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์นำพยานมาสืบในข้อหาฐานต่อสู้ขัดขวางและพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน แล้วให้ศาลชั้นต้นพิพากษาไปตามรูปคดี

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเด็กและเยาวชนพิจารณาเห็นว่า มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 บัญญัติวิธีพิจารณาคดีอาญาที่เกี่ยวกับเด็กกระทำผิดไว้ไม่เคร่งครัด ดังเช่นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาการที่โจทก์ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก และไม่มีพยานโจทก์มาศาลในวันนัดพิจารณานั้น จึงสมควรอนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีไปตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 44 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะข้อหาฐานต่อสู้ขัดขวางและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาที่มาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาว่าที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีและพิพากษายกฟ้องในข้อหาฐานต่อสู้ขัดขวางและพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน โดยถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบนั้น ชอบหรือไม่

ศาลฎีกาพิเคราะห์มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 ซึ่งบัญญัติว่า “การพิจารณาคดีของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนนั้น ให้พยายามทำโดยไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาโดยเคร่งครัด ให้ใช้ภาษาง่าย ๆ ให้จำเลยเข้าใจและต้องเปิดโอกาสให้จำเลยรวมตลอดถึงบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่จำเลยอาศัยอยู่ แถลงข้อเท็จจริง ความรู้สึกและความคิดเห็น ตลอดจนระบุและซักถามพยานได้เต็มที่ ไม่ว่าในชั้นใด ๆ ในระหว่างที่มีการพิจารณาคดีนั้น” แล้วเห็นว่า แม้ข้อความตอนต้นในบทมาตรานี้จะได้บัญญัติไว้ว่าการพิจารณาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน ไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาโดยเคร่งครัดก็ตาม แต่การที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีไปได้หรือไม่ ก็ยังอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะพึงสั่งตามพฤติการณ์ที่เห็นสมควรเป็นราย ๆ ไป และโดยเฉพาะคดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำแถลงของโจทก์ต่อศาลชั้นต้นว่า เหตุที่โจทก์ไม่ได้ยื่นบัญชีพยานหรือขอหมายพยาน เป็นเพราะส่งสำนวนไปยังกรมตำรวจหลังฟ้องแล้วประมาณ 20 วัน ตำรวจเพิ่งส่งสำนวนคืนมาเมื่อ 4-5 วันก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์นั้น ถึงจะรับฟังเป็นความจริงก็ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสมควรแสดงว่าโจทก์ไม่สามารถระบุพยานหรือยื่นบัญชีพยานต่อศาลได้ เพราะเวลาที่โจทก์ส่งสำนวนไปยังกรมตำรวจเป็นเวลาภายหลังฟ้องแล้วถึง 20 วัน และได้รับสำนวนคืนก่อนวันนัดสืบ พยานโจทก์อีก 4-5 วัน ซึ่งเห็นได้ว่าก่อนโจทก์ส่งสำนวนไปยังกรมตำรวจก็ดีหรือหลังจากรับสำนวนคืนแล้วก็ดี โจทก์มีเวลาพอที่จะสามารถระบุพยานหรือยื่นบัญชีพยานได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ระบุพยานหรือยื่นบัญชีพยานต่อศาลเสียเลย เพราะความบกพร่องอันเป็นความผิดของโจทก์ ก็ไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้เลื่อนคดีไป ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีและพิพากษายกฟ้อง ในข้อหาฐานต่อสู้ขัดขวางและพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีพยานมาพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำผิด ลงโทษจำเลยในข้อหานี้ไม่ได้ จึงชอบแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาจำเลยฟังขึ้น

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share