คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5095/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ร้อยเอก อ. รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาคือผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ให้ร้อยเอก อ. ในฐานะนายทหารพระธรรมนูญร่วมฟังการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนเท่านั้น โดยร้อยเอก อ. ไม่ใช่ผู้รับมอบอำนาจโดยตรงจากผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นผู้แทนสูงสุดของโจทก์ และที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ร้อยเอก อ. ได้เสนอผลการเจรจาค่าเสียหายต่อผู้บัญชาการทหารบก ร้อยเอก อ. ก็ไม่ได้เบิกความเช่นนั้น โดยร้อยเอก อ. เบิกความแต่เพียงว่า ไม่สามารถตัดสินใจได้ต้องเสนอผู้บังคับบัญชาทราบก่อน ซึ่งในที่นี้หมายความถึง ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของร้อยเอก อ. และที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า อย่างช้าโจทก์ย่อมรู้เหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2540 ที่กองทัพภาคที่ 1 ได้ส่งหนังสือทั้งดำเนินการเกี่ยวกับคดีนี้ไปยังกรมพระธรรมนูญ แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารที่พลตรี ส. รองแม่ทัพภาคที่ 1 ทำการแทนแม่ทัพภาคที่ 1 ทำบันทึกถึงกรมสารบรรณทหารบก เสนอแนวทางให้นำเสนอเรื่องต่อผู้บัญชาการทหารบก ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหาย อันเป็นการนำเสนอตามขั้นตอนเป็นลำดับขั้นจนถึงผู้บัญชาการทหารบก จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้บัญชาการทหารบกได้ทราบแล้ว กรณีนี้โจทก์เป็นนิติบุคคลมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้แทนและเป็นผู้แสดงเจตนาอันเป็นความประสงค์ของนิติบุคคล อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้บัญชาการทหารบกซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จะถือเอาการที่ข้าราชการของโจทก์คนใดคนหนึ่งรู้มาเป็นวันเริ่มนับอายุความไม่ได้ กรณีนี้พลตรี ป. เจ้ากรมสารบรรณทหารบกมีหนังสือถึงผู้บัญชาการทหารบก ผ่านผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2541 เสนอให้ดำเนินการฟ้องดำเนินคดีแก่ผู้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนและผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการทหารบกให้เป็นผู้แทนดำเนินคดีในทางแพ่ง และรับคำสั่งผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 ถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 ยังไม่พ้นระยะเวลา 1 ปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 4,064,675 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 2,698,539.80 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท ทั้งนี้จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงบันทึกการเจรจาค่าเสียหายระหว่างร้อยเอกอรรถพล กับนายสมเกียรติเจ้าของรถบรรทุกสิบล้อซึ่งเป็นคู่กรณี แม้ข้อความในเอกสารจะมีข้อความว่าผู้รับมอบอำนาจ แต่ก็เป็นกรณีที่ร้อยเอกอรรถพล รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาคือผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ให้ร้อยเอกอรรถพล ในฐานะนายทหารพระธรรมนูญร่วมฟังการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนเท่านั้น โดยร้อยเอกอรรถพลไม่ใช่ผู้รับมอบอำนาจโดยตรงจากผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นผู้แทนสูงสุดของโจทก์ และที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ร้อยเอกอรรถพลได้เสนอผลการเจรจาค่าเสียหายต่อผู้บัญชาการทหารบก ร้อยเอกอรรถพล ก็ไม่ได้เบิกความเช่นนั้น โดยร้อยเอกอรรถพลเบิกความแต่เพียงว่า ไม่สามารถตัดสินใจได้ต้องเสนอผู้บังคับบัญชาทราบก่อน ซึ่งในที่นี้หมายความถึง ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของร้อยเอกอรรถพล และที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า อย่างช้าโจทก์ย่อมรู้เหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2540 ที่กองทัพภาคที่ 1 ได้ส่งหนังสือทั้งดำเนินการเกี่ยวกับคดีนี้ไปยังกรมพระธรรมนูญ นั้น แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารที่พลตรีสมภพ รองแม่ทัพภาคที่ 1 ทำการแทนแม่ทัพภาคที่ 1 ทำบันทึกถึงกรมสารบรรณทหารบก เสนอแนวทางให้นำเสนอเรื่องต่อผู้บัญชาการทหารบก ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหาย อันเป็นการนำเสนอตามขั้นตอนเป็นลำดับขั้นจนถึงผู้บัญชาการทหารบก จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้บัญชาการทหารบกได้ทราบแล้ว กรณีนี้โจทก์เป็นนิติบุคคลมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้แทนและเป็นผู้แสดงเจตนาอันเป็นความประสงค์ของนิติบุคคล อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้บัญชาการทหารบกซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จะถือเอาการที่ข้าราชการของโจทก์คนใดคนหนึ่งรู้มาเป็นวันเริ่มนับอายุความไม่ได้ กรณีนี้พลตรีปราโมทย์ เจ้ากรมสารบรรณทหารบกมีหนังสือถึงผู้บัญชาการทหารบก ผ่านผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2541 เสนอให้ดำเนินการฟ้องดำเนินคดีแก่ผู้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนและผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการทหารบกให้เป็นผู้แทนดำเนินคดีในทางแพ่ง และรับคำสั่งผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 ถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 ยังไม่พ้นระยะเวลา 1 ปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ และค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด ได้ความจากพันโทกิตติศักดิ์ ว่ารถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหายบริเวณด้านท้ายรถต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่ ไม่สามารถนำชิ้นส่วนเก่ามาใช้ได้ต้องสั่งซื้ออะไหล่จากประเทศออสเตรียเนื่องจากไม่มีภายในประเทศ และไม่สามารถนำอะไหล่ยี่ห้ออื่นมาใช้แทนได้ ค่าอะไหล่ที่บริษัทจากประเทศออสเตรียประเมินราคาเป็นเงิน 3,654,865.50 บาท ตามใบเสนอราคาพร้อมคำแปล จำเลยที่ 1 ไม่นำสืบหักล้าง เพียงแต่อ้างรายการอะไหล่รถยนต์เปรียบเทียบกับใบเสนอราคาของโจทก์ ซึ่งเป็นรายการเดียวกันแต่มีราคาต่างกัน 1,000,000 บาทเศษ แต่กรณีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้ปรับลดค่าเสียหายเกี่ยวกับรถยนต์ที่ต้องชดใช้แก่โจทก์เหลือเพียง 2,000,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว และเนื่องจากคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้จัดการมรดก เมื่อได้ความว่า จำเลยที่ 1 มิได้จดทะเบียนสมรสกับนายสมเกียรติ จำเลยที่ 1 จึงรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายของรถยนต์เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกของนายสมเกียรติ อันตกทอดแก่ทายาท โดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และ 1600 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ส่วนนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัว และรับผิดไม่เกินไปกว่าทรัพย์มรดกของนายสมเกียรติที่ตกทอดแก่ทายาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share