แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งหกและขู่ผู้เสียหายทั้งหกจนผู้เสียหายทั้งหกหาเงินมาให้จำเลยคนละ 1,000 บาท แม้จำเลยจะปักใจเชื่อโดยสุจริตว่า ผู้เสียหายทั้งหกลักเงินจำเลยไป จำเลยก็ชอบที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายโดยไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายทั้งหกได้ในทันที จำเลยหามีสิทธิตามกฎหมายที่จะดำเนินการได้ด้วยตนเองไม่ ทั้งวิธีการที่จำเลยทำเป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายและกรรโชกอันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 337 (1), 358, 391 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 6,000 บาทแก่ผู้เสียหายทั้งหก
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 (1) (ที่ถูก มาตรา 337 วรรคสอง), 295, 391 และ 358 เป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดตามมาตรา 337 (1) (ที่ถูก มาตรา 337 วรรคสอง), 295, 391 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกรรโชกตามมาตรา 337 (1) (ที่ถูก มาตรา 337 วรรคสอง) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358 ปรับ 500 บาท รวมจำคุก 1 ปี และปรับ 500 บาท กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 6,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งหก ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางนำสืบของคู่ความที่ไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า ผู้เสียหายทั้งหกรู้จักจำเลยและเคยไปบ้านจำเลย เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2546 ก่อนเกิดเหตุ 2 วัน เวลาประมาณ 20 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 5 พากันไปดูจำเลยซ้อมดนตรีที่บ้านจำเลยและอยู่ดูโทรทัศน์จนถึงเวลาประมาณ 24 นาฬิกา จึงพากันกลับบ้าน ต่อมาวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 13 นาฬิกา จำเลยไปตามผู้เสียหายทั้งหกมาที่บ้านจำเลยแล้วสอบถามเกี่ยวกับเงินของจำเลยที่หายไป แต่ผู้เสียหายทั้งหกปฏิเสธว่าไม่ได้เอาไป จำเลยโกรธและใช้มือตบผู้เสียหายทั้งหกกับขู่ผู้เสียหายทั้งหกจนผู้เสียหายที่ 3 เสนอจะหาเงินมาให้จำเลยคนละ 1,000 บาท และจำเลยสอบถามผู้เสียหายคนอื่นก็ยอมตกลงจะไปหาเงินมาให้จำเลยคนละ 1,000 บาท จำเลยจึงปล่อยผู้เสียหายทั้งหกให้กลับไปโดยบอกให้นำเงินมาให้จำเลยภายในเวลา 16 นาฬิกา ผู้เสียหายทั้งหกจึงไปแจ้งเรื่องให้ผู้ปกครองของตนทราบ และผู้ปกครองของผู้เสียหายทั้งหกได้มอบเงินให้แก่จำเลยคนละ 1,000 บาท ต่อมาฝ่ายผู้เสียหายทั้งหกได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย สำหรับความผิดฐานทำร้ายร่างกายและทำให้เสียทรัพย์ คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ผู้เสียหายทั้งหกตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายทั้งหกเป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า ในวันเกิดเหตุเมื่อผู้เสียหายทั้งหกไปที่บ้านจำเลย แล้วจำเลยถามผู้เสียหายทุกคนว่าเอาเงินของจำเลยไปหรือไม่ เมื่อผู้เสียหายทั้งหกต่างปฏิเสธว่าไม่ได้เอาไป จำเลยใช้มือตบบริเวณใบหน้าและศีรษะของผู้เสียหายทั้งหกและเอาลูกกระสุนปืนประมาณ 10 นัด เทออกจากกล่องใส่ในมือจำเลยและแสดงลูกกระสุนปืนให้ผู้เสียหายทั้งหกดูพร้อมถามว่าจะเอาไหม และจำเลยใช้เท้าเตะหม้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของผู้เสียหายที่ 6 กระเด็นตกลงพื้นกับหยิบขวดทุบแล้วขว้างไปที่ฝาบ้าน และดึงคอเสื้อผู้เสียหายที่ 5 พาไปที่กอกล้วยห่างจากผู้เสียหายอื่นประมาณ 4 ถึง 5 เมตร แล้วให้กลับมาที่เดิมซึ่งผู้เสียหายอื่นนั่งอยู่ และจำเลยพูดขู่ว่า พวกมึงห้าหกคน กูฆ่าได้สบาย แล้วจะเอาไปทิ้งลำห้วยและปล่อยข่าวลือว่าเด็กวัยรุ่นบ้านนายกเป็นคนทำ แล้วจำเลยจะไปบอกญาติที่เป็น ส.ส. กับอัยการ จำเลยก็รอด จากนั้นจำเลยดึงคอเสื้อผู้เสียหายที่ 5 จนล้มลงกับพื้นแล้วใช้เท้าเหยียบบริเวณหน้าอกผู้เสียหายที่ 5 บดคลึงไปมาประมาณ 2 ถึง 3 นาที และถามว่าเอาเงินไปหรือไม่ แต่ผู้เสียหายที่ 5 ปฏิเสธและร้องไห้ ผู้เสียหายที่ 3 จึงพูดขึ้นว่าจะไปหาเงินมาให้จำเลยคนละ 1,000 บาท จำเลยถามผู้เสียหายทุกคนก็ยอมตกลงตามที่ผู้เสียหายที่ 3 พูดจำเลยจึงปล่อยผู้เสียหายทั้งหกให้กลับบ้านโดยบอกให้นำเงินมาให้จำเลยภายในเวลา 16 นาฬิกา ผู้เสียหายจึงนำเรื่องไปแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ เห็นว่า ผู้เสียหายทั้งหกไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย หากไม่มีเหตุการณ์ตามที่ผู้เสียหายทั้งหกเบิกความก็ไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายทั้งหกซึ่งยังเป็นเด็กและเยาวชนจะกล้านำเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงไปบอกเล่าให้ผู้ปกครองของตนฟังเพื่อให้ผู้ปกครองของตนนำเงินคนละ 1,000 บาท ไปจ่ายให้แก่จำเลยภายในเวลาที่จำเลยกำหนด โดยโจทก์มีนางคำมา ป้องกัน ยายผู้เสียหายที่ 1 นางนวนยงค์ แก้วบัวปัด มารดาผู้เสียหายที่ 3 นางคำพอง พลเสนา มารดาผู้เสียหายที่ 4 นางสมพร คำกรฤาชา ป้าผู้เสียหายที่ 5 และนายสนิท ตันเจริญ ตาผู้เสียหายที่ 6 มาเบิกความสนับสนุนในทำนองเดียวกันว่า วันเกิดเหตุผู้เสียหายได้มาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นดังกล่าวให้ฟังและขอให้ผู้ปกครองนำเงินคนละ 1,000 บาท ไปให้จำเลยภายในเวลา 16 นาฬิกา โดยผู้เสียหายแต่ละคนมีอาการหวาดกลัว ตัวสั่น และบางคนร้องไห้ซึ่งผู้ปกครองของผู้เสียหายทั้งหกได้นำเงินคนละ 1,000 บาท ไปมอบให้จำเลยภายในเวลาที่จำเลยกำหนดจริง เนื่องจากเกรงว่าผู้เสียหายทั้งหกจะได้รับอันตราย และโจทก์ยังมีนายทรงศักดิ์ เชื้อคมตา สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองฮี มาเบิกความเป็นพยานด้วยว่า ได้ยินจำเลยตะโกนเอะอะกับผู้ปกครองของผู้เสียหายที่ 5 ว่าให้นำเงินมาใช้คืนในเวลาไม่เกิน 16 นาฬิกา ถ้าหากไม่นำมาให้ ก็จะยุ่ง จะไม่ปลอดภัย และนายทรงศักดิ์เห็นเหตุการณ์ขณะผู้ปกครองของผู้เสียหายนำเงินมามอบให้จำเลยคนละ 1,000 บาท โดยผู้ปกครองของผู้เสียหายที่ 3 ร้องให้ด้วย จึงเชื่อว่าผู้เสียหายทั้งหกได้เบิกความไปตามความเป็นจริงและสาเหตุที่ผู้เสียหายทั้งหกต้องขอให้ผู้ปกครองนำเงินไปให้จำเลยภายในเวลา 16 นาฬิกา ของวันเกิดเหตุ ก็น่าเชื่อว่าเป็นเพราะผู้เสียหายทั้งหกกลัวว่าจะถูกทำร้ายหรือฆ่าให้ตายตามที่จำเลยพูดข่มขู่ไว้และจำเลยยังทำร้ายผู้เสียหายที่ 5 ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายต่อหน้าผู้เสียหายคนอื่นเพื่อให้เกิดความเกรงกลัวอีกด้วย จนทำให้ผู้เสียหายทั้งหกยอมตกลงจะนำเงินคนละ 1,000 บาท มามอบให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่จำเลยนำสืบว่าไม่ได้ขู่ว่าจะฆ่าผู้เสียหายทั้งหกและไม่ได้ทำร้ายผู้เสียหายที่ 5 นั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ แม้จำเลยจะมีพยานปากอื่นมาเบิกความสนับสนุน แต่พยานจำเลยก็ล้วนเป็นญาติและบุคคลในครอบครัวของจำเลย ซึ่งย่อมอาจเบิกความช่วยเหลือและเป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้ การที่จำเลยฎีกาอ้างว่า ไม่มีเจตนากรรโชกทรัพย์ผู้เสียหายทั้งหก แต่จำเลยปักใจเชื่อโดยสุจริตว่าผู้เสียหายทั้งหกลักเงิน 5,000 บาท ของจำเลยไป จึงกระทำต่อผู้เสียหายและเมื่อผู้เสียหายที่ 3 เสนอจะนำเงินมาคืนแก่จำเลย จำเลยจึงตอบรับด้วยความสุจริตใจนั้น ถึงแม้จำเลยจะเชื่อว่าผู้เสียหายทั้งหกลักเงินของจำเลยไป จำเลยก็ชอบที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายโดยไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายทั้งหกได้ในทันที จำเลยหามีสิทธิตามกฎหมายจะดำเนินการได้ด้วยตนเองไม่ ทั้งวิธีการที่จำเลยกระทำเป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมาย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาโดยรอการลงโทษนั้น เห็นว่า แม้จำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเพียงเด็กและเยาวชนถึง 6 คน ก็ตาม แต่สาเหตุเป็นเพราะจำเลยเข้าใจว่าผู้เสียหายทั้งหกเป็นคนลักเอาเงิน 5,000 บาท ของจำเลยไป มิได้เกิดจากจำเลยมีเจตนาชั่วร้าย การจำคุกจำเลยจึงมิได้เป็นการแก้ไขหรือเป็นผลดีต่อจำเลยหรือสังคม ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน คดีมีเหตุอันควรปรานีให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีสักครั้ง โดยรอการลงโทษจำคุกให้ แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ ให้ลงโทษปรับในความผิดฐานกรรโชก และคุมความประพฤติในระหว่างรอการลงโทษด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานกรรโชกให้ลงโทษปรับ 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รวมทุกกระทงความผิดแล้ว จำคุก 1 ปี ปรับ 4,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี คุมความประพฤติจำเลยไว้ในระหว่างรอการลงโทษ โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ ๓ ครั้ง ตามเงื่อนไขที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4