คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5095/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า “เมื่อระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2536 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม2536 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองกับ ป. ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญา โจทก์เพิ่งทราบความจริงเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2537″เป็นคำฟ้องที่ระบุวันเวลาที่บ่งว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดพอสมควรที่จำเลยทั้งสองจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วและจำเลยทั้งสองก็นำสืบต่อสู้คดีโจทก์ไว้ ดังนั้น จำเลยทั้งสองย่อมเข้าใจวันเวลาที่โจทก์กล่าวหาได้ดีโดยมิได้หลงต่อสู้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
วันที่รู้เรื่องความผิดไม่ใช่องค์ประกอบของความผิดและไม่ใช่รายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาที่จำเลยกระทำผิด ทั้งในชั้นตรวจคำฟ้องแม้ฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลก็มีอำนาจสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 161 วรรคหนึ่ง ดังนั้นเพื่อทราบว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 จำคุกคนละ 6 เดือน

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาข้อแรกที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์บรรยายฟ้องว่า “เมื่อระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2536 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2536 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองกับนายประเสริฐ คุ้มสุวรรณ ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญา โจทก์เพิ่งทราบความจริงเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2537″ เป็นคำฟ้องที่ไม่ได้ระบุวันเวลากระทำความผิดให้ชัดว่าเป็นวันเวลาใด ขาดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเวลากระทำผิด เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงวันเวลาที่บ่งว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดพอสมควรที่จำเลยทั้งสองจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วและจำเลยทั้งสองก็ได้นำสืบต่อสู้คดีโจทก์ไว้ ดังนั้นจำเลยทั้งสองย่อมเข้าใจวันเวลาที่โจทก์กล่าวหาได้ดีโดยมิได้หลงต่อสู้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องโดยระบุวันที่รู้เรื่องความผิดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า วันที่รู้เรื่องความผิดไม่ใช่องค์ประกอบของความผิดและไม่ใช่รายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาที่จำเลยกระทำผิด ทั้งในชั้นตรวจคำฟ้อง แม้ฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลก็มีอำนาจสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ดังนั้นเพื่อทราบว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องได้คำสั่งของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างมาในฎีกานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share