คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5086/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่แก้ไขบัญชีแสดงหนี้คงเหลือตามคำขอของโจทก์ซึ่งได้ยื่นไว้ก่อนหน้านั้น เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งลักษณะ2 ภาค 4 ของ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งโจทก์ชอบที่จะทำได้โดยยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนการบังคับคดีเสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 เมื่อโจทก์ทราบและรับเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายตามบัญชีแสดงหนี้คงเหลือไปแล้ว โดยมิได้ยื่นคำขอภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โจทก์เพิ่งมาแถลงคัดค้านบัญชีดังกล่าวและยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่แก้ไขบัญชีแสดงหนี้คงเหลือภายหลังจึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายข้างต้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลแรงงานกลางได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2530 โดยจำเลยทั้งสองยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้ง 31 คน โดยผ่อนชำระเป็นงวด งวดละเดือน เดือนละ2,000 บาท ของแต่ละคนติดต่อกันจนกว่าจะครบ ภายในวันที่ 8 ของเดือนเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2530 เป็นต้นไป หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์แต่ละคนบังคับคดีได้ทันที โจทก์ทั้ง31 คนยอมดังที่กล่าวมาไม่ติดใจเรียกร้องอย่างอื่นจากจำเลยทั้งสองอีกต่อมาจำเลยผิดนัดโจทก์บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำจังหวัดนนทบุรีได้มีหนังสือลงวันที่ 25มกราคม 2532 รายงานมายังศาลแรงงานกลางว่าได้ทำการยึดทรัพย์ของจำเลยและขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวได้เป็นเงิน 947,450 บาทโดยมีบัญชีแสดงรายการรับ-จ่าย และได้ส่งเงินจำนวนดังกล่าวมายังศาลแรงงานกลาง ต่อมาวันที่ 24 เมษายน 2532 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำบัญชีแสดงการรับ-จ่ายและบัญชีแสดงหนี้คงเหลือรายงานต่อศาลแรงงานกลางขออนุญาตจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งหลายตามบัญชีแสดงการรับ-จ่ายดังกล่าว ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ตรวจจ่ายไปตามบัญชีที่เสนอ ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2536 โจทก์ที่ 24 ยื่นคำแถลงต่อศาลแรงงานกลางผ่านไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีอ้างว่าตามบัญชีแสดงหนี้คงเหลือของโจทก์ทั้ง 31 คน เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้คำนวณดอกเบี้ยตามกฎหมายอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของยอดหนี้ที่โจทก์แต่ละคนจะได้รับ ในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงหนี้คงเหลือเสียใหม่ โดยรวมดอกเบี้ยตามกฎหมายที่โจทก์แต่ละคนจะได้รับเข้ายอดหนี้ก่อนที่จะนำจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนได้รับมาหักออกเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งตามสัญญามิได้ระบุว่าหากจำเลยผิดนัดให้คิดดอกเบี้ยด้วย ฉะนั้น บัญชีแสดงหนี้คงเหลือของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงถูกต้องแล้ว ไม่ต้องแก้ไขบัญชีแสดงหนี้คงเหลือ ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2536 โจทก์ที่ 24 ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวข้างต้นและสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงหนี้คงเหลือใหม่โดยรวมดอกเบี้ยตามคำแถลงของโจทก์ที่ 24 เพราะจำเลยทั้งสองผิดนัด โจทก์ที่ 24 มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามกฎหมายอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ด้วย ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2536 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า กรณีเป็นคำพิพากษาพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษา จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี
โจทก์ที่ 24 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 24 อุทธรณ์ว่าสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้เขียนถึงเรื่องดอกเบี้ยไว้ เมื่อมีการผิดนัดก็ไม่ได้หมายความว่า ดอกเบี้ยของหนี้เงินดังกล่าวในระหว่างผิดนัดได้รับการยกเว้นเพราะมีกฎหมายกำหนดไว้ทั้งโจทก์จำเลยก็ไม่ได้ตกลงเว้นจะไม่นำดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาคำนวณด้วย พิเคราะห์แล้วปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำรายงานเสนอต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2532 ว่าตามที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำจังหวัดนนทบุรีได้ส่งเงินค่าขายทอดตลาดทรัพย์จำนวน 947,450 บาทมาให้นั้น บัดนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำบัญชีแสดงการรับ-จ่ายและบัญชีแสดงหนี้คงเหลือ ในเงินจำนวนนี้เสร็จแล้ว ตามที่แนบมากับรายงานนี้ และขออนุญาตจ่ายเงินให้โจทก์ทั้งหลายตามบัญชีแสดงการรับ-จ่าย ดังกล่าว และศาลแรงงานกลางสั่งอนุญาต ศาลฎีกาได้ตรวจดูบัญชีแสดงการรับจ่าย ครั้งที่ 1 ระบุว่า สิ้นสุดลงเพียงวันที่7 มกราคม 2532 และได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้ง 31 คน โดยจ่ายให้โจทก์ที่ 24 ไปเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2532 แล้ว โดยมีบัญชีแสดงหนี้คงเหลือสิ้นสุดเพียงวันที่ 7 มกราคม 2532 ของโจทก์ทั้ง 31 คนรวมโจทก์ที่ 24 ด้วยแนบติดกันมา เห็นว่า การที่โจทก์ที่ 24ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2536 ขอให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่แก้ไขบัญชีแสดงหนี้คงเหลือตามคำขอของโจทก์ที่ 24 ซึ่งยื่นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2536 นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 24 อ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งลักษณะ 2 ภาค 4 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งโจทก์ที่ 24 ชอบที่จะทำได้โดยยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนการบังคับคดีเสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 เมื่อโจทก์ที่ 24 ทราบและรับเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายตามบัญชีแสดงหนี้คงเหลือไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2532โดยโจทก์ที่ 24 มิได้ยื่นคำขอภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวโจทก์ที่ 24 เพิ่งมาแถลงคัดค้านบัญชีดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 มีนาคม2536 และยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่แก้ไขบัญชีแสดงหนี้คงเหลือเมื่อวันที่5 มีนาคม 2536 จึงไม่ชอบ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล
พิพากษายืน

Share