คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10693/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยสั่งอายัดเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากบริษัท ส. และบริษัท ส. ได้ส่งเงินตามคำสั่งอายัดต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2548 ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2549 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ โดยในคำพิพากษามิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ศาลสั่งไว้ในระหว่างการพิจารณา คำสั่งอายัดเงินชั่วคราวก่อนพิพากษาจึงยังคงมีผลให้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็น เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 260 (2) เมื่อโจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดีและศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2549 อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ จึงมีผลเท่ากับเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง และได้มีการชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีนับตั้งแต่วันที่ศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานศาลหรือเป็นเจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดีดังที่ผู้ร้องอ้างในอุทธรณ์ ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ดังกล่าวเสียก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2549 ซึ่งเป็นวันที่ศาลออกหมายบังคับคดี อันถือได้ว่าเป็นวันที่มีการชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคห้า หาใช่นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีหนังสือส่งเงินอันเป็นทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดังที่ผู้ร้องเข้าใจไม่ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งล่วงพ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ถือว่าบริษัท ส. ส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ คำร้องของผู้ร้องจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคห้า ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 40,260,954.
55 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมโดยในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากบริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาและบริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ได้ส่งเงินตามคำสั่งอายัดเป็นเงิน 15,875,688.13 บาท ต่อศาลชั้นต้น หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดี ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์แล้ว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือฉบับลงวันที่ 12 ตุลาคม 2549 ขอให้ศาลชั้นต้นส่งเงินที่อายัดไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดี และศาลชั้นต้นได้ส่งเงิน 15,875,688.13 บาท ไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตามหนังสือฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 เงินดังกล่าวจึงถูกอายัดโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8765/2549 ซึ่งพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 39,961,876.98 บาท แก่ผู้ร้องพร้อมดอกเบี้ย ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 มีไม่เพียงพอที่ผู้ร้องจะบังคับคดีเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยเงินดังกล่าวและหากโจทก์สละสิทธิหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดี ให้ผู้ร้องมีสิทธิดำเนินการบังคับคดีต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยสั่งอายัดเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากบริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และบริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ได้ส่งเงินตามคำสั่งอายัดต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2548 ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2549 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ โดยในคำพิพากษามิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ศาลสั่งไว้ในระหว่างการพิจารณา คำสั่งอายัดเงินชั่วคราวก่อนพิพากษาจึงยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 260 (2) เมื่อโจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดีและศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2549 อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ จึงมีผลเท่ากับเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคหนึ่ง และได้มีการชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีนับตั้งแต่วันที่ศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานศาลหรือเป็นเจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดีดังที่ผู้ร้องอ้างในอุทธรณ์ ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ดังกล่าวเสียก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2549 ซึ่งเป็นวันที่ศาลออกหมายบังคับคดี อันถือได้ว่าเป็นวันที่มีการชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคห้า หาใช่นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีหนังสือส่งเงินอันเป็นทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดังที่ผู้ร้องเข้าใจไม่ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งล่วงพ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ถือว่าบริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ คำร้องของผู้ร้องจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคห้า ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share