แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าดำเนินงานสถานีบริการน้ำมันสวัสดิการค่ายสรรพสิทธิประสงค์ ในบริเวณมณฑลทหารบกที่ 22 โดยพลตรี น. ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 ในขณะนั้นได้กระทำการในฐานะตัวแทนกองทัพบกจำเลยที่ 1 ให้โจทก์จัดจำหน่ายน้ำมัน 15 ปี โดยเสียค่าเช่า แต่จำเลยที่ 2 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 คนต่อมาได้แจ้งให้โจทก์ขนย้ายสิ่งของออกจากสถานีบริการน้ำมัน หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 พร้อมผู้ใต้บังคับบัญชาตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ได้ปิดล้อม หน่วงเหนี่ยว กักขัง บุกรุกทำลายทรัพย์สินของโจทก์ในบริเวณสถานีบริการน้ำมัน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามหยุดการรบกวนการครอบครองของโจทก์ และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งหากข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามก็ย่อมเป็นละเมิด คดีจึงจำต้องฟังข้อเท็จจริงจากการนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายให้เสร็จสิ้นกระแสความเสียก่อน แม้หากจะฟังว่าการกระทำของพลตรี น. ไม่ผูกพันจำเลยทั้งสามก็ชอบที่จำเลยทั้งสามจะต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้โจทก์ออกไป ไม่มีอำนาจบังคับคดีเองโดยพลการ หากขืนทำไปก็ย่อมเป็นละเมิดต่อโจทก์ได้ ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสามเสียจึงเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้เข้าดำเนินงานสถานีบริการน้ำมันสวัสดิการค่ายสรรพสิทธิประสงค์ ในบริเวณมณฑลทหารบกที่ 22 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2539 ตามคำสั่งที่ กห.0482.62/พิเศษ ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2539 โดยพลตรีนิคม ยศสุนทร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 ในขณะนั้นได้กระทำการในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503 ให้โจทก์จัดจำหน่ายน้ำมันและผลิตภัณฑ์ของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นสวัสดิการแก่มณฑลทหารบกที่ 22 มีกำหนดเวลา 15 ปี นับแต่วันที่ครบกำหนดการทดลองจ่ายน้ำมันโดยโจทก์ต้องเสียค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท ในระยะ 10 ปีแรก และเดือนละ 15,000บาท ในระยะ 5 ปีสุดท้าย ต่อมามณฑลทหารบกที่ 22 โดยพลตรีพิบูล วิเชียรวรรณ ได้กระทำการในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ออกคำสั่งมณฑลทหารบกที่ 22 (เฉพาะ)ที่ 13/41 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 แต่งตั้งบุคลากรเพื่อดำเนินงานสถานีบริการน้ำมันสวัสดิการค่ายสรรพสิทธิประสงค์โดยมีนายสกล วิริยะสุนทร กรรมการผู้จัดการของโจทก์เป็นผู้ช่วยผู้จัดการของคณะดำเนินงานในการบริการน้ำมัน เมื่อวันที่ 15กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยที่ 2 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 คนต่อมาได้ส่งหนังสือแจ้งให้โจทก์ขนย้ายสิ่งของออกจากสถานีบริการน้ำมันภายในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2542และให้ยกเลิกคำสั่งมณฑลทหารบกที่ 22 (เฉพาะ) ที่ 13/41 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2541โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ผิดข้อตกลง จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินออกจากสถานีบริการน้ำมัน หลังจากนั้นในวันที่ 16มีนาคม 2542 จำเลยที่ 2 ได้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชามาเก็บค่าเช่าพร้อมค่าแรงทหารไปจากโจทก์จำนวน 30,310 บาท ต่อมาในวันที่ 22 มีนาคม 2542 จำเลยที่ 2 กระทำการในฐานะตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ได้สั่งการให้จำเลยที่ 3 พร้อมผู้ใต้บังคับบัญชานำกำลังทหารประมาณ 30 คน เข้ามาปิดล้อม หน่วงเหนี่ยว กักขัง บุกรุกทำลายทรัพย์สินของโจทก์ในบริเวณสถานีบริการน้ำมัน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายทั้งได้นำแผงเหล็กมาปิดกั้นทางเข้าสถานีบริการน้ำมัน โดยมีข้อความว่า “ปิดชั่วคราว”เพื่อไม่ให้โจทก์จำหน่ายน้ำมันและจำหน่ายสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ตามปกติสุข ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรื้อถอนสิ่งกีดขวางพร้อมป้ายออกไปจากทางเข้าสถานีบริการน้ำมันหยุดการรบกวนการครอบครองของโจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมรื้อถอน ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาโดยให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนเอง และให้จำเลยทั้งสามเสียค่าใช้จ่ายแทนโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 20,000 บาท และค่าเสียหายอีกวันละ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสามจะรื้อถอนสิ่งปิดกั้นและยอมให้โจทก์จำหน่ายน้ำมันและสินค้าอื่นได้ตามปกติ
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า หนังสือที่ กห. 0482.62/พิเศษ ลงวันที่11 ธันวาคม 2539 ซึ่งลงนามโดยพลตรีนิคม ยศสุนทร ไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2เนื่องจากผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 ไม่มีอำนาจลงนามทำนิติกรรมสัญญาให้เอกชนเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินที่จำเลยที่ 1 แบ่งมอบให้ครอบครองดูแลในลักษณะเช่าได้ หนังสือดังกล่าวมิใช่หนังสือราชการของมณฑลทหารบกที่ 22 แต่เป็นหนังสือที่พลตรีนิคม จัดทำขึ้นเองเป็นการส่วนตัว โดยจำเลยที่ 1 และมณฑลทหารบกที่ 22 ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย การที่จำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งมณฑลทหารบกที่ 22 (เฉพาะ)ที่ 13/41 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 นั้น จำเลยที่ 2 ได้กระทำโดยชอบเพราะโจทก์เข้ามาดำเนินงานสถานีน้ำมันค่ายสรรพสิทธิประสงค์โดยไม่ชอบมาตั้งแต่ต้น ประกอบกับได้มีระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการจัดสวัสดิการกองทัพบก พ.ศ. 2541 กำหนดให้ข้าราชการทหารหรือลูกจ้างในหน่วยขึ้นตรงต่อจำเลยที่ 1 เท่านั้น ที่จะเป็นคณะกรรมการสวัสดิการค่ายสรรพสิทธิประสงค์ได้ เมื่อปรากฏว่าคำสั่งมณฑลทหารบกที่ 22 (เฉพาะ)ที่ 13/41 มีบุคคลอื่นร่วมเป็นกรรมการด้วย คำสั่งดังกล่าวจึงขัดต่อระเบียบกองทัพบกสำหรับการที่จำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากสถานีบริการน้ำมันค่ายสรรพสิทธิประสงค์นั้น เป็นการกระทำโดยชอบเช่นเดียวกัน เนื่องจากโจทก์เข้ามาดำเนินงานสถานีบริการน้ำมันค่ายสรรพสิทธิประสงค์โดยไม่มีอำนาจอันชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินและสถานีบริการน้ำมันค่ายสรรพสิทธิประสงค์ซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ไม่เคยสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปเก็บค่าเช่าพร้อมค่าแรงทหารจากโจทก์ ทั้งไม่เคยสั่งการให้จำเลยที่ 3 นำกำลังทหารบุกรุกทำลายทรัพย์สินของโจทก์และหน่วงเหนี่ยว กักขังโจทก์แต่อย่างใด จำเลยที่ 3 มิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 3 พร้อมด้วยทหารจำนวนหนึ่งได้เข้าไปพบกับนายสกลกรรมการผู้จัดการของโจทก์ที่สถานีบริการน้ำมันสวัสดิการค่ายสรรพสิทธิประสงค์เมื่อวันที่ 23มีนาคม 2542 เพื่อขอตรวจสอบอุปกรณ์และทรัพย์สิน การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมนั้น จำเลยที่ 1 มีข้อตกลงกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้จัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อสวัสดิการภายในค่ายสรรพสิทธิประสงค์ซึ่งจำเลยที่ 1 มอบหมายให้มณฑลทหารบกที่ 22 ดำเนินการแทนตามข้อตกลงการจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อสวัสดิการ ที่ ปตท/กห/51/08/42 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2542 โดยมีข้อตกลงดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ยืมทรัพย์สินและอุปกรณ์การจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยด้วยดังนั้น จำเลยที่ 3 ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการสถานีบริการน้ำมันสวัสดิการค่ายสรรพสิทธิประสงค์ ตามคำสั่งมณฑลทหารบกที่ 22 (เฉพาะ) ที่ 3/42 ลงวันที่ 5กุมภาพันธ์ 2542 จึงได้ไปขออนุญาตจากนายสกลเพื่อขอตรวจสอบทรัพย์สินและอุปกรณ์ที่จำเลยที่ 1 ยืมจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยซึ่งอยู่ในบริเวณสถานีบริการน้ำมันค่ายสรรพสิทธิประสงค์ และอยู่ในความครอบครองของนายสกล ภายหลังจากที่นายสกลได้อนุญาตแล้ว จำเลยที่ 3 จึงได้เข้าไปตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบริเวณสถานีบริการน้ำมันดังกล่าว และนายสกลยังตกลงด้วยวาจากับจำเลยที่ 3 ว่าจะหยุดดำเนินงานสถานีบริการน้ำมันไว้ชั่วคราว และยินยอมให้จำเลยที่ 3 ใช้แผงกั้นทางเข้าสถานีบริการน้ำมันไว้เพื่อป้องกันมิให้ทรัพย์สินที่อยู่ในสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวได้รับความเสียหายจากบุคคลภายนอก เมื่อนายสกลอนุญาตให้จำเลยที่ 3 เข้าตรวจสอบทรัพย์สินและอุปกรณ์ในสถานีบริการน้ำมันค่ายสรรพสิทธิประสงค์รวมทั้งอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ใช้แผงกั้นทางเข้าสถานีบริการน้ำมันดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 3 กับพวกจึงไม่เป็นการบุกรุกหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์ และจำเลยที่ 3 กับพวกมิได้ทำลายทรัพย์สินใด ๆ ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสาม แล้ววินิจฉัยว่าการกระทำของพลตรีนิคม ยศสุนทร ไม่ผูกพันจำเลยทั้งสาม การที่โจทก์เข้าไปดำเนินงานสถานีบริการน้ำมันเป็นการไม่ชอบมาตั้งแต่ต้น จำเลยทั้งสามจึงไม่ได้กระทำการใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้นงดสืบพยานเป็นการชอบหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าดำเนินงานสถานีบริการน้ำมันสวัสดิการค่ายสรรพสิทธิประสงค์ ในบริเวณมณฑลทหารบกที่ 22 โดยพลตรีนิคมยศสุนทร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 ในขณะนั้นได้กระทำการในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 1 ให้โจทก์จัดจำหน่ายน้ำมันและผลิตภัณฑ์ของการปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทยมีกำหนดเวลา 15 ปี โดยเสียค่าเช่า แต่จำเลยที่ 2 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 คนต่อมาได้แจ้งให้โจทก์ขนย้ายสิ่งของออกจากสถานีบริการน้ำมัน หลังจากนั้นจำเลยที่ 3พร้อมผู้ใต้บังคับบัญชาตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ได้ปิดล้อม หน่วงเหนี่ยว กักขัง บุกรุกทำลายทรัพย์สินของโจทก์ในบริเวณสถานีบริการน้ำมัน ทำให้โจทก์ได้ความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามหยุดการรบกวนการครอบครองของโจทก์ และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งเห็นได้ว่าหากข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามก็ย่อมเป็นละเมิดและต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ คดีจึงจำต้องฟังข้อเท็จจริงจากการนำสืบพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายให้เสร็จสิ้นกระแสความเสียก่อนที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า การกระทำของพลตรีนิคมไม่ผูกพันจำเลยทั้งสาม การที่โจทก์เข้าดำเนินงานสถานีบริการน้ำมันเป็นการไม่ชอบมาตั้งแต่ต้น จำเลยทั้งสามจึงไม่ได้กระทำการใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์นั้น เห็นว่า แม้หากจะฟังว่าการกระทำของพลตรีนิคมไม่ผูกพันจำเลยทั้งสาม ก็ชอบที่จำเลยทั้งสามจะต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้โจทก์ออกไป ไม่มีอำนาจบังคับคดีเองโดยพลการ หากขืนทำไปก็ย่อมเป็นละเมิดต่อโจทก์ได้ ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสามเสียจึงเป็นการไม่ชอบ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสามต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี