คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 508/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา เข้าใจได้ว่าเจตนาของจำเลยต้องการซื้อเลื่อยโซ่ยนต์ที่เป็นของผลิตจากต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรปหรือทวีปอเมริกาเป็นของใหม่ซึ่งไม่เคยถูกใช้งานมาก่อน โดยโจทก์จะต้องสามารถแสดงหลักฐานในเรื่องนี้จากโรงงานผู้ผลิตต่อจำเลยได้หากจำเลยสงสัยว่าไม่ใช่ของใหม่อีกทั้งในสัญญาซื้อขายยังกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ขอยกเว้นค่าภาษีอากรขาเข้าให้แก่โจทก์ แสดงว่าเลื่อยโซ่ยนต์ที่จำเลยตกลงซื้อจากโจทก์จะต้องเป็นเลื่อยโซ่ยนต์ที่โจทก์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศส่วนที่จำเลยอ้างว่าตามสัญญาซื้อขาย ไม่ปรากฏข้อความที่กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ซื้อมีหน้าที่เป็นผู้นำเข้าแต่อย่างใดนั้นเมื่อได้ความว่าสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อได้เดินทางเข้ามาถึงประเทศไทย แต่ยังไม่ถึงกำหนดที่โจทก์ต้องส่งมอบให้แก่จำเลยโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายในการขออนุญาตนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยก็ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศและอธิบดีกรมป่าไม้ขออนุญาตนำเลื่อยโซ่ยนต์ดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อใช้ในราชการซึ่งหากจำเลยเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยตามที่อ้างจำเลยก็คงไม่มีหนังสือขออนุญาตถึงอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศและอธิบดีกรมป่าไม้ ดังกล่าวข้างต้น ส่วนการที่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศและอธิบดีกรมป่าไม้ไม่อนุญาตก็เนื่องจากเป็นการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีและประกาศกระทรวงพาณิชย์ จำเลยก็ควรเสนอเรื่องต่อกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาให้นำเรื่องขออนุญาตนำเข้าเลื่อยโซ่ยนต์เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอมติคณะรัฐมนตรีให้นำเข้าได้เป็นกรณีพิเศษเพื่อนำไปใช้ในราชการ แต่จำเลยกลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการให้ถูกต้องจนสินค้าถูกกรมศุลกากรยึด จึงถือได้ว่าการนำเข้าสินค้าเพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยไม่อาจกระทำได้เพราะเหตุขัดข้องจากทางฝ่ายจำเลยจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดชำระราคาสินค้าเลื่อยโซ่ยนต์ตามฟ้องที่ถูกยึดให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2533 จำเลยทำสัญญาซื้อเลื่อยโซ่ยนต์พร้อมอุปกรณ์จำนวน 15 เครื่อง จากโจทก์ในราคา303,675 บาท จำเลยตกลงจะเป็นผู้ดำเนินการขอยกเว้นค่าภาษีอากรขาเข้า และโจทก์จะต้องส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยภายในวันที่ 9 กรกฎาคม 2533 ในการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าว จำเลยมีหน้าที่ต้องขออนุญาตต่อทางราชการเพื่อนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2533 สินค้าตามสัญญาซื้อขายได้ขนส่งมาถึงประเทศไทย แต่โจทก์ไม่สามารถจัดส่งให้แก่จำเลยได้เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า โจทก์จึงต้องนำฝากสินค้านั้นเก็บไว้ที่โรงเก็บสินค้าของบริษัทบางกอกโมเดิร์น เทอร์มินอลจำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2533 ตลอดมาจนถึงปัจจุบันโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทำการตรวจและรับมอบสินค้าแต่จำเลยกลับอ้างว่าโจทก์จะต้องส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลย โดยที่โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติได้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระราคาเลื่อยโซ่ยนต์พร้อมอุปกรณ์เป็นเงิน 303,675 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2533เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยรับเลื่อยโซ่ยนต์และอุปกรณ์กับให้ชำระค่าใช้จ่ายในการเก็บสินค้าถึงวันฟ้องจำนวน52,897 บาท และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรับมอบสินค้าดังกล่าวให้แก่บริษัทบางกอก โมเดิร์น เทอร์มินอล จำกัด แทนโจทก์ให้จำเลยดำเนินการขอยกเว้นภาษีอากรขาเข้าต่อทางราชการ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 303,675 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2533จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยทำสัญญาซื้อขายเลื่อยโซ่ยนต์พร้อมอุปกรณ์จำนวน 15 เครื่องกับโจทก์ในราคา 303,675 บาท ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 แต่โจทก์ไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยได้ เพราะสินค้าประเภทเลื่อยโซ่ยนต์เป็นสินค้าที่ถูกควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เอกสารหมาย จ.2 ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระราคาสินค้าเลื่อยโซ่ยนต์ตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ จำเลยฎีกาข้อแรกว่า ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3หามีข้อความกำหนดไว้ว่าเลื่อยโซ่ยนต์ที่จำเลยตกลงซื้อจากโจทก์จะต้องเป็นเลื่อยโซ่ยนต์ที่โจทก์ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศนั้นเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาเอกสารหมาย จ.3เข้าใจได้ว่าเจตนาของจำเลยต้องการซื้อเลื่อยโซ่ยนต์ที่เป็นของผลิตจากต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรปหรือทวีปอเมริกาเป็นของใหม่ซึ่งไม่เคยถูกใช้งานมาก่อนโดยโจทก์จะต้องสามารถแสดงหลักฐานในเรื่องนี้จากโรงงานผู้ผลิตต่อจำเลยได้ หากจำเลยสงสัยว่าไม่ใช่ของใหม่ อีกทั้งในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1ยังกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ขอยกเว้นค่าภาษีอากรขาเข้าให้แก่โจทก์แสดงว่าเลื่อยโซ่ยนต์ที่จำเลยตกลงซื้อจากโจทก์จะต้องเป็นเลื่อยโซ่ยนต์ที่โจทก์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศส่วนที่จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 ไม่ปรากฏข้อความที่กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ซื้อมีหน้าที่เป็นผู้นำเข้าแต่อย่างใดนั้น เห็นว่าเมื่อสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อได้เดินทางเข้ามาถึงประเทศไทย แต่ยังไม่ถึงกำหนดที่โจทก์ต้องส่งมอบให้แก่จำเลยโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายในการขออนุญาตนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งจำเลยได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศและอธิบดีกรมป่าไม้ขออนุญาตนำเลื่อยโซ่ยนต์ดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อใช้ในราชการตามเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งหากจำเลยเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยตามที่ฎีกาจำเลยก็คงไม่มีหนังสือขออนุญาตตามเอกสารหมาย จ.7 ถึงอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศและอธิบดีกรมป่าไม้ ส่วนการที่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศและอธิบดีกรมป่าไม้ไม่อนุญาตก็เนื่องจากเป็นการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีและประกาศกระทรวงพาณิชย์ตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งจำเลยก็เสนอเรื่องต่อกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาให้นำเรื่องขออนุญาตนำเข้าเลื่อยโซ่ยนต์เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอมติคณะรัฐมนตรีให้นำเข้าได้เป็นกรณีพิเศษเพื่อนำไปใช้ในราชการ แต่จำเลยกลับเพิกเฉย ไม่ดำเนินการให้ถูกต้องจนสินค้าถูกกรมศุลกากรยึด จึงถือได้ว่าการนำเข้าสินค้าเพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยไม่อาจกระทำได้เพราะเหตุขัดข้องจากทางฝ่ายจำเลย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องรับผิดชำระราคาสินค้าเลื่อยโซ่ยนต์ตามฟ้องที่ถูกยึดให้แก่โจทก์
พิพากษายืน

Share