แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยได้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยการขาย ให้เช่า หรือเสนอขาย เสนอให้เช่า หรือนำออกโฆษณาซึ่งภาพยนตร์วีดีโอเทปเพื่อการค้า โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งมีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา27 และ 44 วรรคสอง ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างจากความผิดตามมาตรา 24,25 และ 43 วรรคสอง กล่าวคือ ความผิดตามมาตรา 27และ 44 วรรคสองเป็นการกระทำแก่งานที่ผู้กระทำความผิดรู้อยู่แล้วว่างานนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โดยขาย ให้เช่าให้เช่าซื้อ หรือเสนอขาย เสนอให้เช่า หรือเสนอให้เช่าซื้อ นำออกโฆษณา แจกจ่าย นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร แต่ความผิดตามมาตรา 24,25 และ 43 วรรคสอง เป็นการกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยทำซ้ำ หรือดัดแปลง หรือนำออกโฆษณาโดยมิได้รับอนุญาตตามมาตรา 13 เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำความผิดของจำเลยตามมาตรา 24,25 และ 43 วรรคสอง แม้โจทก์จะอ้างบทมาตราดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้อง ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดตามบทมาตราดังกล่าวได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา192 วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์วีดีโอเทปเรื่อง HEIR TO THE THRONE IS ชื่อภาษาไทยว่า ลิขิตฮ่องเต้ เรื่อง ORDEAL BEFORE THE REOLUTION ชื่อภาษาไทยว่า จอมโจรอาหนิว และเรื่อง THE FEUD OF TWO BROTHERS ชื่อภาษาไทยว่า คู่ทรนง ซึ่งได้สร้างสรรค์และนำออกโฆษณาเผยแพร่ครั้งแรกในฮ่องกงประเทศไทยและฮ่องกงซึ่งเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษต่างเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมทำ ณ กรุงเบอร์นทั้งประเทศไทยและฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองแก่งานภาพยนตร์วีดีโอเทป และงานอันมีลิขสิทธิ์อื่น ๆ ของประเทศภาคีแห่งอนุสัญญาดังกล่าวเช่นเดียวกัน จำเลยได้บังอาจกระทำการอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยการขาย ให้เช่าหรือเสนอขายเสนอให้เช่าหรือนำออกโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปเพื่อการค้าภาพยนตร์วีดีโอเทป 3 เรื่อง ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าภาพยนตร์วีดีโอเทปทั้งสามเรื่องดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์และลิขสิทธิ์ดังกล่าวเป็นของโจทก์ซึ่งมีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจทำการตรวจค้นร้านของจำเลยพบและยึดม้วนภาพยนตร์วีดีโอเทปรวม 38 ม้วน โดยจำเลยมีไว้บริการให้เช่า หรือจำหน่ายแก่ลูกค้าหรือสมาชิกของร้านจำเลยเพื่อการค้าอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 13, 24, 25, 26, 27, 42, 43, 44,47, 49 พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 มาตรา 3, 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และขอให้ของกลางตกเป็นของโจทก์ ค่าปรับที่ได้รับชำระตามคำพิพากษาให้จ่ายแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา24, 25, 43 วรรคสอง วางโทษปรับสองหมื่นบาท ให้ของกลางตกเป็นของโจทก์ และค่าปรับที่ชำระตามคำพิพากษาให้จ่ายแก่โจทก์เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าภาพยนตร์วีดีโอเทปของกลางเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์จำเลยมิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จึงไม่มีสิทธิที่จะอัดเทปดังกล่าวแล้วนำออกให้ผู้อื่นเช่า ซึ่งถือว่าเป็นการนำออกโฆษณาโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 13 อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นความผิดตามมาตรา24 และ 25 และลงโทษตามมาตรา 43 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นชอบหรือไม่ ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยได้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยการขาย ให้เช่า หรือเสนอขายเสนอให้เช่า หรือนำออกโฆษณาซึ่งภาพยนตร์วีดีโอเทปเพื่อการค้าโดยรู้อยู่แล้วว่าภาพยนตร์วีดีโอเทปดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์และลิขสิทธิ์ดังกล่าวเป็นของโจทก์ซึ่งมีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 27 และ 44 วรรคสอง ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างจากความผิดตามมาตรา 24, 25 และ 43 วรรคสอง กล่าวคือความผิดตามมาตรา 27 และ 44 วรรคสอง เป็นการกระทำแก่งานที่ผู้กระทำความผิดรู้อยู่แล้วว่างานนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยขาย ให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอขาย เสนอให้เช่าหรือเสนอให้เช่าซื้อ นำออกโฆษณา แจกจ่าย นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร แต่ความผิดตามมาตรา 24, 25 และ 43 วรรคสอง เป็นการกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยทำซ้ำ หรือดัดแปลง หรือนำออกโฆษณาโดยมิได้รับอนุญาตตามมาตรา 13 เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำความผิดของจำเลยตามมาตรา 24, 25 และ 43 วรรคสองแม้โจทก์จะอ้างบทมาตราดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดตามบทมาตราดังกล่าวได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่าการกระทำของจำเลยเข้าลักษณะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 24, 25 และ 43 วรรคสอง ย่อมมีผลเท่ากับวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 27และ 44 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันไปในตัว และเมื่อโจทก์ไม่ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดตามมาตรา 27 และ 44 วรรคสองศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าวได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในฐานความผิดตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 24, 25 และ 43 วรรคสองเสียด้วย