คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 508/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยซึ่งเป็นคนขับรถฝ่ายหนึ่งรับผิดฐานละเมิดแม้เหตุที่รถชนกันจะเกิดจากความประมาทร่วมของคนขับรถทั้งสองฝ่ายเมื่อโจทก์มิได้มีส่วนร่วมในความประมาทนั้นด้วย จำเลยก็ต้องรับผิดต่อโจทก์เต็มตามจำนวนความเสียหาย มิใช่รับผิดเพียงกึ่งหนึ่งกรมธรรม์ประกันภัยที่ว่า ‘50,000 บาท ต่อหนึ่งคน 50,000 บาทต่อหนึ่งครั้ง’ มีความหมายว่าถ้าบุคคลภายนอกได้รับความเสียหายหลายคนก็ต้องเฉลี่ยค่าสินไหมทดแทนกันไปในจำนวนเงิน 50,000 บาทเท่านั้น

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทั้งสามสำนวน ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามสำนวน พร้อมดอกเบี้ย โจทก์ทั้งสามสำนวน และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ทั้งสาม สำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “เหตุที่รถทั้ง 2 คันเฉี่ยวชนกันนี้เกิดจากความประมาทของนายพรหมคนขับรถบรรทุกน้ำมันของจำเลยที่ 1และคนขับรถยนต์บรรทุกคนโดยสาร ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาข้อที่ 3 โจทก์ทั้งสามสำนวนฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทร่วมของคนขับรถทั้งสองฝ่าย จึงพิพากษาให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเพียงครึ่งเดียวเป็นการไม่ชอบเพราะโจทก์ (ผู้ตาย) เป็นบุคคลภายนอกมิได้มีส่วนร่วมในความประมาทด้วยนั้น เห็นว่าผู้ตายซึ่งโจทก์ลึกสิทธิมาฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้น เป็นแต่เพียงบุคคลภายนอกที่นั่งมาในรถยนต์บรรทุกคนโดยสารเท่านั้น มิได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จึงเฉลี่ยให้โจทก์รับผิดด้วยไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดใช้ค่าเสียหายเพียงกึ่งหนึ่ง จึงไม่ชอบ” ฯลฯ

“ปัญหาข้อที่ 5 จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า เหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ปรากฏว่าผู้เอาประกันภัยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขในสัญญากรมธรรม์ประกันภัยข้อ 1.7 ดังนั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดตามเงื่อนไขข้อ 1.9เห็นว่า เป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าหากจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดด้วย ตามเงื่อนไขในสัญญากรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.1 จำเลยที่ 3 จำกัดความรับผิดไม่เกินจำนวนเงินที่ระบุไว้ในตารางสัญญาข้อ 2.1 กล่าวคือ 50,000 บาทต่อ 1 คน และต้องเป็นไปตามค่าเสียหายที่แท้จริงเท่านั้น แม้จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้บุคคลหลายคนก็ตามก็จำกัดความรับผิดไว้ไม่เกินจำนวน 50,000 บาทต่อ 1 ครั้งนั้น ปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 2.1มีว่า “50,000 บาท ต่อหนึ่งคน 50,000 บาทต่อหนึ่งครั้ง” เห็นว่าเงื่อนไขดังกล่าวมีความหมายว่า จำเลยที่ 3 จะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามผู้เอาประกันภัยให้กับบุคคลภายนอกคนหนึ่งไม่เกิน 50,000 บาท และครั้งหนึ่งไม่เกิน 50,000 บาท ถ้าบุคคลภายนอกได้รับความเสียหายคนก็ต้องเฉลี่ยค่าสินไหมทดแทนกันไป จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามสำนวนตามส่วนเฉลี่ยของค่าเสียหายตามที่โจทก์แต่ละสำนวนได้รับในจำนวนเงิน 50,000 บาท เท่านั้น ฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมว่า”ให้จำเลยทั้งสามชำระค่าธรรมเนียมทั้งสองศาลในนามของโจทก์ผู้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาทั้งสามสำนวนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ชนะคดี และให้ใช้ค่าทนายความทั้งสองศาลแทนโจทก์สำนวนละ1,200 บาท” นั้นยังไม่ชัดเจนสมควรแก้ไขเสียใหม่

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์สำนวนที่ 1 เป็นเงิน 68,000 บาท แก่โจทก์สำนวนที่ 2 เป็นเงิน98,000 บาท และแก่โจทก์สำนวนที่ 3 เป็นเงิน 68,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้ง 3 สำนวนตามส่วนเฉลี่ยของค่าเสียหายที่โจทก์แต่ละสำนวนได้รับในจำนวนเงิน 50,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แทนโจทก์ทุกสำนวน เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ชนะคดีในศาลอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความให้สำนวนละ 1,200 บาทค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่เป็นค่าธรรมเนียมศาลที่รวมอยู่ในจำนวนเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยทั้งสามนำมาวางศาลใช้แทนโจทก์เพื่อยื่นฎีกานั้น ให้แยกออกมาซื้อแสตมป์ฤชากรปิดสำนวน ในนามของโจทก์ทั้ง 3 สำนวนที่ได้รับยกเว้นให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับไปทุกฝ่าย”

Share