แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายได้แปลประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1669 เป็นภาษาอังกฤษแล้วตีพิมพ์จำหน่าย คำแปลดังกล่าวเป็นวรรณกรรมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 มาตรา 4 และผู้เสียหายได้ลิขสิทธิ์ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยละเมิดสิทธิของผู้เสียหาย บังอาจทำขึ้นเพื่อขายและเสนอขายซึ่งสำเนาจำลองวรรณกรรมคำแปลตัวบทประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๖๙ ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้แปลไว้ โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์อยู่ และจำเลยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคุ้มครอบวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.๒๔๗๔ มาตรา ๕, ๑๑ , ๒๕
จำเลยให้การปฏิเสธและว่าจำเลยออกโดยไม่รู้ว่าคำแปลนั้นผู้เสียหายเป็นผู้แปล
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.๒๔๗๔ มาตรา ๒๕, ๕, ๑๑ ให้ลงโทษปรับจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำแปลประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๖๙ ที่ผู้เสียหายแปลเป็นวรรณกรรมอย่างหนึ่ง ในประเภท “วรรณกรรมอื่น” ตามพระราชบัญญัติวรรณกรรม ฯลฯ มาตรา ๔ วรรค ๔ แต่ตามคำนำในหนังสือผู้เสียหายแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายเป็นผู้รวบรวมขึ้นเท่านั้น และฟังว่า จำเลยไม่รู้ว่าคำแปลนั้นเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คำแปลมาตรา ๑๖๖๙ ฉบับภาษาอังกฤษในหนังสือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ – ๖ ซึ่งรวบรวมโดยผู้เสียหายนั้น ผู้เสียหายเป็นผู้แปลจากภาษาไทย และคำแปลนั้นเป็นวรรณกรรมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรม พ.ศ.๒๔๗๔ มาตรา ๔ และผู้เสียหายได้ลิขสิทธิ์ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การที่จำเลยจำลองเอาคำแปลดังกล่าวไปพิมพ์ขาย เมื่ออ่านตามคำนำในหนังสือของผู้เสียหายแล้ว จำเลยต้องรู้ว่าเป็นคำแปลซึ่งผู้เสียหายได้จัดทำแปลขึ้น และต้องรู้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในหนังสือดังกล่าว พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น