คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5077/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตาม ป.อ. มาตรา 91 มิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดหลายกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันไม่ได้ การกระทำในคราวเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันก็อาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ จำเลยใช้ไม้ไผ่ตีทำร้าย ท. ขณะขับรถจักรยานยนต์คันที่ 3 แล้ว ท. ขับรถหลบหนีไปได้ จากนั้นต่อมาจำเลยก็ใช้ไม้ตีทำร้าย ส. ขณะขับรถจักรยานยนต์คันที่ 4 ซึ่งเล่นตามหลังมาห่างกันประมาณ 200 ถึง 400 เมตร จนเป็นเหตุให้รถล้มลง แล้วพวกจำเลยก็เตะทำร้ายร่างกาย ช. ผู้นั่งซ้อนท้ายแล้วจำเลยกับพวกก็หลบหนีไป จากพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับพฤติกรรมของจำเลยดังกล่าว ย่อมบ่งชี้ได้อย่างแจ้งชัดว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลในการกระทำของตนแยกต่างหากจากกันเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์แต่ละคันแม้ว่าจะเป็นการกระทำในคราวเดียวกันก็ตามการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 295, 297 ริบไม้ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297 (8), 83 อันเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 รวมโทษจำคุก 1 ปี 12 เดือนริบไม้ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 297 (8) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาพิพากษาว่าปัญหาตามฎีกาของจำเลยมีว่า การกระทำความผิดในคดีนี้เป็นกรรมเดียวหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า กลุ่มของคนร้ายมีเจตนาเดียวคือการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยไม่แยกแยะตัวบุคคลและเป็นการกระทำเพียงครั้งเดียวเท่านั้น จึงเป็นการกระทำเพียงกรรมเดียว เห็นว่า การกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดหลายกรรมนั้น จะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันไม่ได้ การกระทำในคราวเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันก็อาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยใช้ไม้ไผ่ตีทำร้ายนายไทยยนต์ขณะขับรถจักรยานยนต์คันที่ 3 แล้วนายไทยยนต์ขับรถหลบหนีไปได้ จากนั้นต่อมาจำเลยก็ใช้ไม้ตีทำร้ายนายสมชายขณะขับรถจักรยานยนต์คันที่ 4 ซึ่งแล่นตามหลังมาห่างกันประมาณ 200 ถึง 400 เมตร จนเป็นเหตุให้รถล้มลง แล้วพวกจำเลยก็เตะทำร้ายร่างกายนายชัยยงค์ผู้นั่งซ้อนท้ายแล้วจำเลยกับพวกก็หลบหนีไป จากพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับพฤติกรรมของจำเลยดังกล่าว ย่อมบ่งชี้ได้อย่างแจ้งชัดว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลในการกระทำของตนแยกต่างหากจากกันเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์แต่ละคัน แม้ว่าจะเป็นการกระทำในคราวเดียวกันก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันทำร้ายนายไทยยนต์กระทงหนึ่ง และร่วมกันทำร้ายนายสมชายกับนายชัยยงค์อีกกระทงหนึ่ง จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share