แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. มีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หลังจากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามกับ จ. ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเข้าหุ้นส่วนเดิม โดยให้จำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและหุ้นส่วนผู้จัดการ และถอนเงินลงหุ้นออกไป โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทน ให้จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่ได้ความว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. มีหนี้สินและไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จำเลยที่ 1 ต้องการเลิกห้างหุ้นส่วน แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องการดำเนินกิจการต่อ จำเลยที่ 1 กับ จ.จึงถอนหุ้นออกจากการเป็นหุ้นส่วนโดยไม่มีการถอนเงินลงหุ้นไปจริง เพราะห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ไม่มีเงินเหลืออยู่เลยดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ถอนหุ้นจึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๐ ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำความผิดโดยจำเลยที่ ๑ แกล้งยอมตนออกจากการเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด และออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัดศศิพาณิชย์ ให้จำเลยที่ ๒ เปลี่ยนประเภทจากหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และให้จำเลยที่ ๓เข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด โดยจำเลยทั้งสามเจตนามิให้โจทก์บังคับคดียึดหุ้นของจำเลยที่ ๑ ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ นอกจากหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดศศิพาณิชย์แล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์จะบังคับเอาได้ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐, ๘๓
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐, ๘๓ ลงโทษจำคุกคนละ ๒ ปี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมจำเลยที่ ๑เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดศศิพาณิชย์ โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ ๑ ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาจำเลยทั้งสามกับนายเจริญทำสัญญากันให้แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเข้าหุ้นส่วนเดิมตามที่ได้จดทะเบียนไว้ โดยให้จำเลยที่ ๑ ออกจากการเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดและถอนเงินลงหุ้นออกจากการเป็นหุ้นส่วน ให้จำเลยที่ ๒ เปลี่ยนจากหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด และนำเงินมาลงหุ้นเพิ่มอีกโดยให้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทนจำเลยที่ ๑ ให้นายเจริญออกจากการเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดโดยถอนเงินลงหุ้นออกจากการเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด และให้รับจำเลยที่ ๓ เข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดโดยนำเงินมาลงหุ้นและได้จดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดคือ จำเลยที่ ๑ แกล้งยอมตนออกจากการเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัดศศิพาณิชย์จำเลยที่ ๒ เปลี่ยนประเภทจากหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และให้จำเลยที่ ๓ เข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ทำให้โจทก์ไม่สามารถยึดถือหุ้นของจำเลยที่ ๑ ออกขายทอดตลาดเอาชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพราะนอกจากหุ้นของจำเลยที่ ๑ ในห้างหุ้นส่วนจำกัดศศิพาณิชย์แล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะบังคับเอาได้ แต่ได้ความว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดศศิพาณิชย์มีหนี้สินและไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จำเลยที่ ๑ ต้องการเลิกห้างหุ้นส่วน แต่จำเลยที่ ๒ จะดำเนินกิจการต่อไปจึงชักชวนจำเลยที่ ๓ มาเข้าเป็นหุ้นส่วนด้วยส่วนจำเลยที่ ๑ กับนายเจริญได้ถอนหุ้นออกจากการเป็นหุ้นส่วนโดยไม่มีการถอนเงินลงหุ้นไปจริง เพราะห้างหุ้นส่วนจำกัดศศิพาณิชย์ไม่มีเงินเหลืออยู่เลย ดังนั้นการที่จำเลยที่ ๑ ถอนหุ้นจึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ ๑ ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
พิพากษายืน.