แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด” ผู้เสียหายตามบทบัญญัติดังกล่าวได้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลมี ป. เป็นผู้ว่าการเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เมื่อ ป. มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายหรือผู้รักษาการแทนซึ่งในคดีนี้คือ ก. เป็นผู้ดำเนินคดีแพ่ง ก. ย่อมเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ แม้ อ. ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักกฎหมายก็ตาม แต่ อ. หาใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์แต่อย่างใดไม่ การที่ อ. มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบที่วางไว้ตามปกติเท่านั้น มิใช่เป็นการกระทำแทนผู้ว่าการของโจทก์ตามที่ได้รับมอบหมายในลักษณะของตัวการตัวแทนอันจะถือได้ว่าเป็นการกระทำของผู้ว่าการ เมื่อปรากฏว่า ก. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ทราบเรื่องตามที่เจ้าหน้าที่เสนอตามลำดับชั้นและอนุมัติให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2548 จึงถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดในวันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 อันเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์อุทธรณ์โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้องและชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความแล้วมิได้วินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป แต่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ ดังนั้น จึงชอบที่จะเรียกเก็บค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ เป็นเงิน 200 บาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 6,855,156.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 15 เมษายน 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่าคำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยานโจทก์ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้อง คำให้การ และสอบข้อเท็จจริงจากคู่ความแล้ววินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นโดยมิได้สืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าวันที่ 1 กันยายน 2548 ซึ่งเป็นวันที่นายอรรณพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย รักษาการแทนผู้อำนวยการกองคดีของโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหาย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 จึงเกินกว่าหนึ่งปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในประเด็นที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเพื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์กับจำเลยที่ 1ไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 มีนายประเจิดเป็นผู้ว่าการ เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2548 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา โครงเหล็กแบบเสาคู่พร้อมป้ายโฆษณาจำนวน 2 ป้าย ที่ติดตั้งอยู่บนโครงเหล็กดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาประกันภัยของจำเลยที่ 2 ล้มลงทับทรัพย์สินของโจทก์ได้แก่ระบบจำหน่ายไฟฟ้าแรงสูง พร้อมอุปกรณ์ได้รับความเสียหาย นายอรรณพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักกฎหมายรักษาการแทนผู้อำนวยการกองคดีของโจทก์ มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ นายอรรณพทำบันทึกถึงผู้อำนวยการสำนักกฎหมายรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ความเสียหายที่ได้รับและขอให้ดำเนินคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง นางกรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนโจทก์อนุมัติให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2548 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่นายอรรณพซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย รักษาการแทนผู้อำนวยการกองคดีของโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 ถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ทำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่วันดังกล่าวแล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 จึงพ้นกำหนดหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์จึงขาดอายุความ นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด” เห็นว่า ผู้เสียหายตามบทบัญญัติดังกล่าวได้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีนายประเจิดเป็นผู้ว่าการเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เมื่อนายประเจิดมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายหรือผู้รักษาการแทนซึ่งในคดีนี้คือ นางกรรณิกาเป็นผู้ดำเนินคดีแพ่งนางกรรณิกาย่อมเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ แม้นายอรรณพซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักกฎหมายก็ตาม แต่นายอรรณพหาใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์แต่อย่างใดไม่ การที่นายอรรณพมีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบที่วางไว้ตามปกติเท่านั้น มิใช่เป็นการกระทำแทนผู้ว่าการของโจทก์ตามที่ได้รับมอบหมายในลักษณะของตัวการตัวแทนอันจะถือได้ว่าเป็นการกระทำของผู้ว่าการดังที่จำเลยที่ 1 เข้าใจ เมื่อปรากฏว่านางกรรณิกาผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ทราบเรื่องตามที่เจ้าหน้าที่เสนอตามลำดับชั้นและอนุมัติให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2548 จึงถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดในวันดังกล่าว เมื่อนับถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 อันเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในประเด็นที่ยังมิได้วินิจฉัย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์อุทธรณ์โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้องและชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความแล้วมิได้วินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป แต่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ ดังนั้น จึงชอบที่จะเรียกเก็บค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ เป็นเงิน 200 บาท แต่ศาลอุทธรณ์มิได้สั่งคืนค่าขึ้นศาลอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ