คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5053/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาและจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย การที่จำเลยทราบจากผู้เสียหายว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ผู้เสียหาย แล้วจำเลยพูดว่า เรื่องนี้พอสืบได้แต่ต้องไถ่ทรัพย์คืนโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รู้ว่าผู้ใดเป็นคนร้ายลักทรัพย์หรือรับของโจรรายนี้และยังไม่รู้ว่าทรัพย์ที่ถูกลักรายนี้ถูกเก็บรักษาไว้ ณ ที่ใด ทั้งยังไม่ได้มีการแจ้งความออกหมายจับคนร้าย จำเลยจึงไม่มีอำนาจหน้าที่จะจับกุมผู้ใดมาดำเนินคดีหรือนำทรัพย์ที่ถูกลักไปมาคืนผู้เสียหายหรือส่งมอบพนักงานสอบสวน ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 157,334, 335, 357 ให้คืนของกลางแก่เจ้าของ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 2,880 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำคุก1 ปี ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษฐานรับของโจรด้วย
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทาจำเลยในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์มีพยานคือตัวผู้เสียหาย เบิกความว่าในการพบจำเลยสองครั้งแรก จำเลยพูดว่าเรื่องนี้พอจะสืบทราบได้โดยต้องไถ่ทรัพย์คืนเป็นเงิน 3,000 บาท เขาไม่ยอมให้ไถ่ในราคา1,500 บาท ตามที่ผู้เสียหายขอลด แต่จะเอาตัวคนร้ายไม่ได้ ในการพบครั้งที่สามจำเลยพูดว่า ถ้าเอาเงินให้จำเลย 2,000 บาท อีกสองวันจะได้รับทรัพย์คืน และมีนายเล่ง แซ่เล้า มาเบิกความว่า ในวันที่3 พฤศจิกายน 2527 หลังจากที่รู้ว่าทรัพย์ถูกลัก นายเล่งได้พบและบอกจำเลย จำเลยพูดว่าของนี้สืบได้ไม่ยากแต่ต้องไถ่ ส่วนบันทึกถอดคำพูดของจำเลยจากเทปตาม เอกสารหมาย จ.6 ก็มีข้อความเพียงว่าจำเลยไม่รู้จักกับคนร้ายที่ลักทรัพย์รายนี้ คงรู้จักแต่คนที่มาติดต่อขอไถ่ทรัพย์คืนเท่านั้น นอกจากนี้ พันตำรวจโทจำรัส สอาดโฉมผู้บังคับบัญชาของจำเลยเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า หลังจากผู้เสียหายนำเทปบันทึกเสียงไปเปิดให้ฟัง ตนได้สั่งให้จำเลยสืบสวนจับกุมคนร้ายและติดตามทรัพย์ที่หายคืนด้วย แสดงว่าจำเลยยังไม่ทราบตัวคนร้ายและไม่ทราบว่าของกลางอยู่ ณ ที่ใด ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า จากพยานโจทก์ดังกล่าวยังไม่ได้ความว่าจำเลยได้รู้ว่าผู้ใดเป็นคนร้ายลักทรัพย์หรือรับของโจรรายนี้ และยังไม่รู้ว่าทรัพย์ที่ถูกลักรายนี้ถูกเก็บรักษาไว้ ณ ที่ใด ทั้งเมื่อคดียังไม่ได้ความว่า ได้มีการแจ้งความและออกหมายจับคนร้าย จำเลยจึงยังไม่มีอำนาจหน้าที่จะจับกุมผู้ใดมาดำเนินคดีหรือนำทรัพย์ที่ถูกลักไปมาคืนผู้เสียหายหรือส่งมอบพนักงานสอบสวน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157ดังที่โจทก์ฟ้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยพยานจำเลย”
พิพากษายืน.

Share