คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 285/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กฎกระทรวงฉบับที่ 11(พ.ศ. 2522) เพียงแต่กำหนดประเภทชนิด และขนาดของอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่ นาย ทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้เท่านั้น หาใช่บทมาตราที่ว่าการกระทำอย่างใดเป็นความผิดอาญาไม่ การที่โจทก์ไม่ได้ระบุกฎกระทรวงมาในคำขอท้ายฟ้องยังถือไม่ได้ว่าเป็นฟ้องที่ขัดต่อป.วิ.อ. มาตรา 158(6).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 55,78 และขอให้ริบขอกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงคำคุก 1 ปี 6 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย แต่ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยข้อ 3 โดยเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฟ้องโจทก์ที่มิได้กล่าวอ้างกฎกระทรวงฯซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาในคำขอท้ายฟ้องจะเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(6) บัญญัติไว้เพียงว่า คำฟ้องจะต้องอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีลูกระเบิดมือแบบเอ็ม 46 ซึ่งเป็นลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารในสภาพใช้การได้ไว้ในครอบครอง โดยโจทก์ได้บรรยายฟ้องมาชัดแจ้งว่าลูกระเบิดมือดังกล่าวเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะอนุญาตให้ไม่ได้ และในคำขอท้ายฟ้องก็ได้ระบุ มาตรา 7 กับ ามาตรา 78แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ อันเป็นบทความผิดและบทลงโทษมาแล้วอีกทั้งยังได้ระบุมาตรา 55 มาด้วย ส่วนกฎกระทรวงฉบับที่ 11(พ.ศ. 2522) หาใช่บทมาตราที่ว่าการกระทำอย่างใดเป็นความผิดอาญาไม่หากแต่เป็นเพียงบทบัญญัติซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 55กำหนดประเภท ชนิด และขนาดของอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้เท่านั้น การที่ฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุกฎกระทรวงดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้อง ยังถือไม่ได้ว่าเป็นฟ้องที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6)ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน”.

Share