คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 505/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีเดิมพนักงานอัยการเป็นโจทก์แทนผู้ร้องฟ้องจำเลยผู้เป็นบิดาของผู้ร้อง ที่สุดจำเลยกับผู้ร้องทำสัญญายอมความกันใจความสำคัญตอนหนึ่งว่าถ้าหากจำเลยตายจะจัดการแบ่งที่ดินพร้อมด้วยเรือนให้
ต่อมาจำเลยตาย ผู้ร้องจึงร้องขอให้แบ่งแยกที่ดินและเรือนตามสัญญายอมซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้วคำร้องในชั้นนี้ไม่ใช่เรื่องฟ้องคดีมรดก จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งอายุความ 1 ปี

ย่อยาว

คดีนี้เดิมพนักงานอัยการเป็นโจทก์แทน น.ส.อนงค์ และนายประสิทธิฟ้องจำเลยผู้เป็นบิดาของ น.ส.อนงค์และนายประสิทธิ เรียกทรัพย์มรดกของนางเลื่อนผู้เป็นภริยาจำเลยและเป็นมารดา น.ส.อนงค์และนายประสิทธิ

ต่อมาพนักงานอัยการร้องขอเป็นโจทก์แทนนายประสงค์และนายประเสริฐบุตรจำเลยและนางเลื่อนร่วมเข้ามาอีก

ที่สุดคู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 14 มีนาคม2488 ซึ่งเฉพาะที่เกี่ยวกับปัญหาชั้นนี้คือตามความในสัญญายอมข้อ 2 ความว่า “ข้อ 2 จำเลยยอมให้ น.ส.อนงค์ นายประสิทธินายประเสริฐ บุตรทั้งสามคนมีสิทธิอาศัยอยู่ในเรือนสีฟ้าซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดที่ 557 ตำบลบางไส้ไก่ ธนบุรี จนตลอดชีวิต ถ้าหากจำเลยถึงแก่กรรมลงหรือโอนจะขาย จะจัดการแบ่งที่ดินให้เป็นบริเวณสมควรให้กับนายประสิทธิ นายประเสริฐ น.ส.อนงค์ เป็นกรรมสิทธิ์พร้อมทั้งเรือนสีฟ้าด้วย

ต่อมาวันที่ 23 ก.ค. 95 น.ส.อนงค์และนายประสิทธิมายื่นคำร้องว่า เมื่อศาลพิพากษาคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วและจำเลยได้ถึงแก่กรรมเสียเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 94 แล้ว ผู้ร้องจึงขอให้ศาลสั่งดำเนินการบังคับคดีตามสัญญายอม ข้อ 2 โดยแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ 557 ฯลฯ

น.ส.ประจง คัดค้าน มีใจความเฉพาะที่เกี่ยวกับปัญหาชั้นนี้ว่าจำเลยได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินรายพิพาทให้ผู้คัดค้านแล้ว กับว่าผู้ร้องจะมาขอดำเนินการบังคับคดีโดยลำพังไม่ได้ ทางที่ถูกพนักงานอัยการจะต้องเป็นผู้บังคับคดีจึงจะชอบ

และผู้คัดค้านแถลงต่อศาลว่า สัญญายอมความเรื่องนี้ได้ทำก่อนจำเลยทำพินัยกรรม ผู้ร้องไม่ขอบังคับคดีเสียใน 1 ปีนับแต่จำเลยตาย คดีขาดอายุความ

ผู้ร้องแถลงว่า ผู้ร้องครอบครองที่รายนี้ตลอดมา

ผู้คัดค้านแถลงว่า ผู้ร้องครอบครองในฐานะอาศัย

ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า

1. ในชั้นนี้เป็นชั้นบังคับคดี ไม่ใช่ชั้นพิจารณา ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้ตามสัญญายอมความ จึงขอบังคับคดีเองได้

2. จำเลยไม่มีอำนาจเอาทรัพย์ที่จะต้องให้แก่ผู้ร้องตามคำพิพากษาของศาลไปทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดได้

3. ผู้ร้องขอบังคับคดีตามสัญญายอมความ ไม่ใช่เป็นเรื่องขอบังคับเอาจากกองมรดกโดยตรง จึงไม่อยู่ในบังคับเรื่องอายุความ 1 ปี

จึงมีคำสั่งให้บังคับคดีไปตามสัญญายอมความ

น.ส.ประจง ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำสั่งศาลแพ่งใน 1 และ 2 ถูกต้องแล้ว แต่ใน 3 นั้นเห็นว่าการขอบังคับเช่นคดีนี้ก็เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่ง จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการมรณะแล้วจึงต้องเข้าอยู่ในหลักอายุความเรียกร้องแก่กองมรดก ผลแห่งสัญญายอมและคำพิพากษาตามยอมมิได้ทำให้ที่ดินและเรือนสีฟ้าตกเป็นของ น.ส.อนงค์กับพวกได้เองทันทีที่นายสมถึงแก่กรรมลง ยังเป็นเรื่องที่ต้องจัดการกันต่อไปอีก ฉะนั้นระหว่างนั้นต้องถือว่าเป็นทรัพย์ของนายสมที่ตกทอดไปยังทายาทผู้รับช่วงไปทั้งสิทธิและหน้าที่ แต่ในเรื่องนี้น.ส.อนงค์กับพวกจะได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงความตายของนายสมมาเกินปีแล้วหรือไม่ และน.ส.ประจง จะเป็นทายาทจริงตามพินัยกรรมและใช่พินัยกรรมที่ถูกต้องหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยพิพากษาให้ยกคำสั่งศาลแพ่ง ให้ศาลแพ่งพิจารณาเฉพาะในเรื่องที่ยังไม่ได้พิจารณาดังกล่าวแล้วนั้นต่อไป แล้วสั่งใหม่ตามรูปความน.ส.อนงค์และนายประสิทธิ ผู้ร้อง ฎีกา

ข้อวินิจฉัยในชั้นนี้คงมีแต่เฉพาะประเด็นในข้อ 3 ที่ว่าคดีของผู้ร้องอยู่ในบังคับเรื่องอายุความมรดก 1 ปีหรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่าในชั้นนี้เป็นแต่ผู้ร้องขอให้แบ่งแยกที่ดินบริเวณของเรือนสีฟ้าให้แก่ผู้ร้องหรือนัยหนึ่งขอให้บังคับตามสัญญายอมความที่ผู้ร้องทำกับจำเลยและซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาบังคับให้เป็นไปตามสัญญายอมความนั้นแล้วเท่านั้น คดีของผู้ร้องมิใช่เรื่องฟ้องคดีมรดก จึงหาอยู่ในบังคับอายุความเรียกร้องมรดก 1 ปีไม่

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลแพ่งทุกประการ

Share