คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 504-506/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม จำคุก 6 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5 ปี ขั้นสูงไม่เกินกว่า 7 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมกำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ปี ขั้นสูงไม่เกิน 2 ปี อันเป็นการพิพากษาแก้ไขเฉพาะระยะเวลาการฝึกอบรม ซึ่งไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นฝึกอบรมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5 ปี ขั้นสูงไม่เกินกว่า 7 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ปี ขั้นสูงไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการพิพากษาแก้ทั้งบทลงโทษและแก้ไขระยะเวลาฝึกอบรมอันเป็นการแก้ไขมาก แต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า อวัยวะเพศของจำเลยได้ผ่านอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 เข้าไปแล้วจึงเป็นความผิดสำเร็จฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 317 วรรคสาม ให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิมต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
คดีนี้ จำเลยถูกควบคุมตัวในระหว่างอุทธรณ์ โดยสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช รับตัวจำเลยไว้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2559 หากผู้อำนวยการสถานพินิจเห็นสมควรย้ายเด็กหรือเยาวชนไปควบคุมในสถานพินิจอื่นหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินจะย้ายเด็กหรือเยาวชนไปก่อนก็ได้ แต่ต้องรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 41 (7) แต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับอนุญาตจากศาลให้ย้ายเด็กหรือเยาวชนไปเข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านบึงก่อน หรือหากจะถือว่ามีเหตุฉุกเฉินที่จะย้ายเด็กหรือเยาวชนไปก่อนก็ไม่ปรากฏว่ามีการรายงานให้ศาลทราบ การส่งตัวจำเลยไปเข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านบึงจึงเป็นการไม่ชอบ และการที่ศาลชั้นต้นพิจารณาปล่อยจำเลยไปเมื่อครบกำหนดฝึกอบรมขั้นต่ำทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุดก็เป็นการไม่ชอบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยถูกควบคุมในระหว่างพิจารณาคดีจึงให้หักจำนวนวันที่จำเลยอยู่ในความควบคุมตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 83 วรรคหนึ่งด้วย

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่าโจทก์ และให้เรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277, 317 และให้นับโทษจำคุกหรือระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยติดต่อกันทั้งสามสำนวน
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสามสำนวน
ระหว่างพิจารณา นางสาว ส. ผู้เสียหายที่ 1 และเป็นมารดาของ ด.ญ. พ. ผู้เสียหายที่ 2 และ ด.ญ. ร. ผู้เสียหายที่ 3 นางสาว ก. เป็นผู้เสียหายที่ 4 และเป็นมารดาของ ด.ญ. ภ. ผู้เสียหายที่ 5 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท และให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 4 เป็นเงิน 100,000 บาท
จำเลยให้การคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 4 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน 3 กระทง จำคุกกระทงละ 6 ปี รวมจำคุก 30 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5 ปี ขั้นสูงไม่เกินกว่า 7 ปี หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ แต่ยังควบคุมตัวจำเลยไม่ครบกำหนดระยะเวลาฝึกอบรม เหลือระยะเวลาเท่าใด ให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกจนกว่าจะครบระยะเวลาฝึกอบรมดังกล่าว กับให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท แก่ผู้ร้องที่ 1 และให้ชำระเงิน 100,000 บาท แก่ผู้ร้องที่ 2 เมื่อเรียงกระทงลงโทษจำเลยแล้ว จึงถือว่ามีผลเป็นการนับโทษฝึกอบรมของจำเลยต่อจากโทษฝึกอบรมของจำเลยแต่ละสำนวนติดต่อกันตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แล้ว และเมื่อศาลตั้งทนายความให้แก่ผู้ร้องทั้งสอง ค่าทนายความจึงไม่กำหนดให้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก ฐานกระทำอนาจารเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี 2 กระทง ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมกับโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี 1 กระทง จำคุก 6 ปี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นจำคุก 8 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์ข้อหาพรากผู้เยาว์อายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมมีกำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ปี ขั้นสูงไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ผู้เสียหายที่ 1 เป็นมารดาของผู้เสียหายที่ 2 ขณะเกิดเหตุอายุ 4 ปีเศษ และผู้เสียหายที่ 3 ขณะเกิดเหตุอายุ 7 ปีเศษ ผู้เสียหายที่ 4 เป็นมารดาของผู้เสียหายที่ 5 ขณะเกิดเหตุอายุ 6 ปีเศษ บ้านของผู้เสียหายทั้งห้าอยู่ติดกับบ้านของบ้านมารดาจำเลย ซึ่งจำเลยพักอาศัยอยู่ด้วย วันเกิดเหตุเป็นช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2557 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ไปเล่นที่บ้านจำเลย จำเลยเรียกผู้เสียหายที่ 5 เข้าไปในห้องนอน จำเลยใช้อวัยวะเพศตนกระทำต่ออวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 5 แล้ว ผู้เสียหายที่ 3 เข้าไปช่วยทำให้ผู้เสียหายที่ 5 ออกไปจากห้องนอนได้ แต่จำเลยจับตัวผู้เสียหายที่ 3 แล้วใช้อวัยวะเพศของตนกระทำต่ออวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 3 แล้วจำเลยเรียกผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปในห้องนอนให้ผู้เสียหายที่ 2 ดูดอวัยวะเพศของจำเลย จากนั้นจำเลยใช้อวัยวะเพศของตนกระทำต่ออวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 2 สำหรับความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม จำคุกกระทงละ 6 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นฝึกอบรมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5 ปี ขั้นสูงไม่เกินกว่า 7 ปี หากจำเลยอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ แต่ยังควบคุมตัวจำเลยไม่ครบกำหนดระยะเวลาฝึกอบรม เหลือระยะเวลาเท่าใด ให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกจนกว่าจะครบระยะเวลาฝึกอบรมดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมกับโทษจำคุกฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปี 1 กระทง จำคุก 6 ปี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นจำคุก 8 ปี โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมกำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ปี ขั้นสูงไม่เกิน 2 ปี สำหรับความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้ไขเฉพาะระยะเวลาการฝึกอบรม ซึ่งไม่ใช่โทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สำหรับความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้ทั้งบทลงโทษและแก้ไขระยะเวลาฝึกอบรมอันเป็นการแก้ไขมากแต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาตามอาญา มาตรา 219 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า อวัยวะเพศของจำเลยได้ผ่านอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 เข้าไปแล้วจึงเป็นความผิดสำเร็จฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า จำเลยมีความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจารหรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่เป็นความผิดดังกล่าว ต้องเป็นการพาหรือแยกเด็กไปจากอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 แม้บ้านของจำเลยและผู้เสียหายอยู่ติดกัน ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 อนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ไปเล่นที่บ้านจำเลยแต่ก็เป็นการอนุญาตให้เล่นในบริเวณที่รับแขกของบ้าน การที่จำเลยพาผู้เสียหายทั้งสามเข้าไปในห้องนอน โดยมีลักษณะบังคับมิให้ขัดขืนหลบหนี ดังได้ความว่า เมื่อจำเลยพาผู้เสียหายที่ 5 เข้าไปในห้องนอนทำการชำเรา ผู้เสียหายที่ 3 ต้องเข้าไปช่วยผู้เสียหายที่ 5 จึงหลบหนีออกมาได้ แต่ผู้เสียหายที่ 3 ถูกจำเลยจับมัดแล้วชำเรา ลักษณะการกระทำของจำเลย ที่พาผู้เสียหายจากบริเวณที่ผู้เสียหายดังกล่าวได้รับอนุญาตให้ไปเล่นแล้วพาเข้าห้องนอนโดยผู้เสียหายดังกล่าวไม่อาจหลบหนีออกไปได้ จึงเป็นการพรากเด็กไปจากอำนาจของผู้ปกครอง เป็นความผิดดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามาในข้อนี้ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่ที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 3 กระทงเป็นจำคุก 12 ปี โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีกำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5 ปี ขั้นสูงไม่เกินกว่า 7 ปี ศาลฎีกาเห็นว่าหนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดระยะเวลาฝึกอบรมใหม่ เพื่อให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 317 วรรคสาม ให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิมต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยและเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในระหว่างฎีกา ศาลชั้นต้นปล่อยตัวจำเลยไปเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เนื่องจากจำเลยได้รับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านบึง ครบกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ตามหมายปล่อยฉบับวันที่ 11 เมษายน 2560 นั้น เห็นว่า คดีนี้ จำเลยถูกควบคุมตัวในระหว่างอุทธรณ์ โดยสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช รับตัวจำเลยไว้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2559 หากผู้อำนวยการสถานพินิจเห็นสมควรย้ายเด็กหรือเยาวชนไปควบคุมในสถานพินิจอื่นหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 จะต้องได้รับอนุญาตมาจากศาลก่อน เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินจะย้ายเด็กหรือเยาวชนไปก่อนก็ได้ แต่ต้องรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 41 (7) แต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับอนุญาตจากศาลก่อน หรือหากจะถือว่ามีเหตุฉุกเฉินที่จะย้ายเด็กหรือเยาวชนไปก่อนก็ไม่ปรากฏว่ามีการรายงานให้ศาลทราบ การส่งตัวจำเลยไปเข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านบึงจึงเป็นการไม่ชอบ และการที่ศาลชั้นต้นพิจารณาปล่อยจำเลยไปเมื่อครบกำหนดฝึกอบรมขั้นต่ำทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุดก็เป็นการไม่ชอบเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม (เดิม) ลดมาตราส่วนโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งคงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 6 ปี 18 เดือน เมื่อรวมโทษฐานกระทำอนาจารเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นเวลา 8 ปี รวมเป็นจำคุก 14 ปี 18 เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนเขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนด 1 ปี โดยให้หักจำนวนวันที่จำเลยอยู่ในความควบคุมระหว่างพิจารณาคดีตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 83 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share