แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ได้ใบแทนโฉนดตลอดจนการจดทะเบียนสิทธิมาโดยไม่สุจริต ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องผู้ครอบครองที่ดินอยู่ก่อนและยึดถือโฉนดไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ยังมิได้แก้หลักฐานทางทะเบียนแต่อย่างใด
ย่อยาว
ได้ความว่า เดิมที่นาพิพาทเป็นของนายหมัด เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๔๘๐ นายหมัดได้ทำสัญญาขายกันเองให้แก่จำเลยที่ ๔ ขณะนั้นที่พิพาทยังไม่มีโฉนด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ นายหมัดได้โฉนดที่พิพาทแล้วนำมามอบให้จำเลยที่ ๔ พร้อมทั้งใบมอบฉันทะให้จำเลยที่ ๔ ไปรับโอนเอง ต่อมานายหมัดตาย จำเลยที่ ๔ ก็ยังไม่ได้ไปโอนโฉนดที่พิพาท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ โจทก์บอกกับนายติ่งบตรนายหมัดว่านายหมัดเป็นหนี้โจทก์อยู่ ให้ไปขอใบแทนโฉนดที่พิพาทแล้ว โอนตีใช้หนี้โจทก์ แล้วโจทก์จัดการให้นายติ่งได้ใบแทนโฉนด พ.ศ. ๒๔๙๒ นายติ่งได้โอนขายให้โจทก์ โจทก์จึงฟ้องหาว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ บุกรุกที่พิพาทกับเรียกค่าเสียหาย ต่อมาโจทก์ได้เรียกจำเลยที่ ๔ เป็นจำเลยด้วย ภายหลังโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่๑
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามมิให้จำเลยที่ ๓ – ๔ เข้าเกี่ยวข้องในที่พิพาทและให้จำเลยที่ ๔ ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ ๒
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทมา โจทก์ยังหาเข้าครอบครองไม่ เพราะเพิ่งได้รับแทนโฉนด ในเดือนมกราคม ๒๔๙๒ การที่โจทก์ได้ใบแทนมาก็โดยไม่สุจริต บทบัญญัติในมาตรา ๑๒๙๙ และ ๑๓๐๐ ป.ม.แพ่งฯ จึงไม่สนับสนุนสิทธิของโจทก์ขึ้นได้ และมาตรา ๑๓๗๓ เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้น และจำเลยได้นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานนี้แล้วโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยได้
พิพากษายืน