คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5039/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยรับฝากหมีควายไว้จากผู้ใหญ่บ้านเพื่อส่งมอบให้แก่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า แต่ทางสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่ายังก่อสร้างบ่อเลี้ยงหมีควายไม่แล้วเสร็จ จึงให้จำเลยเลี้ยงดูไปก่อน แต่การที่จำเลยจะมีความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น คำว่า “ครอบครอง” ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มิได้บัญญัติให้มีความหมายเป็นพิเศษ จึงต้องถือว่าการครอบครองในกรณีนี้ต้องมีเจตนายึดถือเพื่อตนทั้งนี้ตามหลักกฎหมายทั่วไป ดังนั้นการที่จำเลยรับเลี้ยงดูหมีควายซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ชั่วคราวเพื่อรอให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่ามารับไปในภายหลัง จำเลยไม่มีเจตนายึดถือเพื่อตน จึงหาใช่เป็นการมีไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดตามมาตรา 19 และมาตรา 47 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างประมาณปี 2537 ถึงวันที่ 9 กันยายน 2539 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยมีหมีควายหรือหมีดำจำนวน 1 ตัว อันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา 17 ที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์เหตุเกิดที่ตำบลคลองเฉลิม อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 4, 5, 6, 19, 47 ริบของกลางให้กรมป่าไม้ และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 588/2541 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง, 47 จำคุก 1 ปี ปรับ 15,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ริบของกลางให้กรมป่าไม้ ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 588/2540 (ที่ถูก 588/2541) ของศาลชั้นต้น เนื่องจากคดีนี้ศาลพิพากษาโดยให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ คำขอส่วนนี้จึงให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่หมีควายของกลางคงริบให้กรมป่าไม้

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 9กันยายน 2539 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา นายจริย์ แก้วบำรุง นายอำเภอกงหราจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยนายศราวุธ เพชรหวล เจ้าพนักงานป่าไม้ 2 หน่วยป้องกันรักษาป่า พ.ท.6 (นาวง) กับพวกได้ร่วมกันไปตรวจค้นบ้านของจำเลยซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างในท้องที่หมู่ที่ 2 ตำบลคลองเฉลิม อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง พบหมีควายหรือหมีดำ จำนวน 1 ตัว อันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2532) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ถูกขังอยู่ในกรงเหล็กที่บริเวณหน้าบ้านของจำเลย จึงยึดไปเป็นของกลาง และแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยเป็นคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยได้รับหมีควายของกลางมาอย่างไรและเมื่อใด โจทก์คงมีแต่นายจริย์นายอำเภอกงหรา กับนายศราวุธเจ้าพนักงานป่าไม้ ผู้ร่วมตรวจยึดหมีควายของกลางเป็นพยานเบิกความว่า ขณะที่พยานทั้งสองกับพวกตรวจพบหมีควายของกลางถูกขังอยู่ในกรงเหล็กที่บริเวณหน้าบ้านของจำเลยนั้นพยานทั้งสองกับพวกได้สอบถามนางเพียงใจแก่นกระโทก คนงานที่เฝ้าบ้านได้ความว่าหมีควายของกลางเป็นของจำเลย สำหรับนางเพียงใจนั้น ปรากฏว่าโจทก์ไม่สามารถติดตามตัวมาเบิกความได้โจทก์คงส่งอ้างบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของนางเพียงใจตามเอกสารหมาย ป.จ.1 (ศาลจังหวัดเบตง)เป็นพยานต่อศาลโดยโจทก์มีพันตำรวจโทงามศักดิ์ เกื้อจรูญ พนักงานสอบสวน เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกคำให้การฉบับดังกล่าวซึ่งนางเพียงใจก็ให้การเพียงว่า ขณะที่นางเพียงใจมาอยู่ที่บ้านที่เกิดเหตุเมื่อประมาณปลายปี 2537 นั้น ก็เห็นมีการเลี้ยงหมีควายของกลางอยู่ก่อนแล้ว และนางเพียงใจได้ช่วยเลี้ยงหมีควายของกลางตลอดมาจนกระทั่งถึงวันเกิดเหตุที่นายอำเภอกงหรากับพวกมายึดหมีควายของกลางไป แต่ความในข้อนี้กลับได้ความจากคำเบิกความของนางขุ้ย หมื่นภักดี พยานโจทก์ เพื่อนบ้านของจำเลยซึ่งมีที่ดินอยู่ติดกับที่ดินของจำเลยแปลงที่เกิดเหตุว่า พยานเพิ่งเห็นหมีควายของกลางถูกขังอยู่ในกรงเหล็กซึ่งอยู่ใต้ต้นจำปาดะภายในบริเวณที่ดินของจำเลยก่อนเกิดเหตุคดีนี้ประมาณ 5 เดือน หรือประมาณเดือนเมษายน 2539 สอดคล้องกับคำเบิกความของนายศราวุธ เจ้าพนักงานป่าไม้พยานโจทก์ว่า ขณะตรวจยึดหมีควายของกลาง หมีควายของกลางมีอายุ 1 ปีเศษ เท่านั้น แสดงว่าจำเลยน่าจะนำหมีควายของกลางมาเลี้ยงไว้ไม่นานนัก ส่วนที่นายจริย์นายอำเภอกงหราพยานโจทก์เบิกความว่าหมีควายของกลางมีอายุ 2 ปี ถึง 3 ปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับคำเบิกความของนางขุ้ย และนายศราวุธนั้น อาจเป็นเพียงการคาดคะเนเอาเองของนายจริย์ก็ได้ เพราะไม่ปรากฏว่านายจริย์มีความรู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสัตว์ป่าหรือหมีควายแต่อย่างใดดังนั้นคำให้การในชั้นสอบสวนของนางเพียงใจตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ป.จ.1 (ศาลจังหวัดเบตง)ที่อ้างว่าจำเลยเลี้ยงหมีควายของกลางมาก่อนปลายปี 2537 ซึ่งเป็นเพียงพยานบอกเล่าจึงมีน้ำหนักน้อย ไม่อาจรับฟังเป็นความจริงได้ และความในข้อนี้จำเลยก็ได้อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความต่อสู้ว่า จำเลยเพิ่งได้รับฝากหมีควายของกลางมาจากนายปลื้ม สุขจุลผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งจำเลยจำหมู่ที่และตำบลไม่ได้ เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2539 เพื่อจะนำไปมอบให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุงเนื่องจากชาวบ้านจับมาได้ เหตุที่จำเลยยินยอมรับฝากเพราะจำเลยรู้จักสนิทสนมกับนายปลื้มอีกทั้งบริเวณบ้านของจำเลยก็กว้างขวางและมีกรงเหล็กซึ่งเคยใช้ขังสุนัข หลังจากรับฝากได้ประมาณ1 สัปดาห์ จำเลยได้ทำหนังสือแจ้งประสานงานไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุงให้มารับหมีควายของกลางไปเลี้ยงต่อมานายประภาส สีนอง หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุงได้มีหนังสือแจ้งแก่จำเลยว่า บ่อสำหรับเลี้ยงหมีควายยังสร้างไม่เสร็จ จึงยังไม่อาจรับหมีควายไปเลี้ยงได้ โดยจำเลยมีนายปลื้มผู้ใหญ่บ้านกับนายประภาสหัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุง เป็นพยานเบิกความรับรองคำเบิกความของจำเลยในข้อนี้ และจำเลยยังมีหนังสือของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุงเอกสารหมาย ล.1 เป็นพยานสนับสนุนอีกด้วย ซึ่งศาลฎีกาได้ตรวจดูแล้วปรากฏว่าหนังสือฉบับดังกล่าว ลงวันที่ 29มีนาคม 2539 ก่อนที่นายจริย์กับพวกจะไปตรวจยึดหมีควายของกลาง 5 เดือนเศษ เจือสมกับบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของนางเพียงใจตามเอกสารหมาย ป.จ.1 (ศาลจังหวัดเบตง) ซึ่งนางเพียงใจได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ตอนหนึ่งว่านางเพียงใจทราบจากจำเลยว่าได้ติดต่อเจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุงให้มานำหมีควายของกลางไปเลี้ยงรักษาไว้แล้วตั้งแต่ก่อนที่เจ้าพนักงานป่าไม้จะมายึดหมีควายของกลางไปสำหรับหนังสือของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุงฉบับดังกล่าวเป็นเอกสารราชการมีการลงเลขที่หนังสือและวันเดือนปีไว้อย่างชัดเจนโดยนายประภาสหัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุงได้มาเป็นพยานเบิกความรับรองหนังสือฉบับดังกล่าวว่า พยานได้มีหนังสือฉบับดังกล่าวถึงจำเลยแจ้งให้จำเลยช่วยรับภาระเลี้ยงดูหมีควายของกลางไปก่อน เมื่อทางสถานีฯ ก่อสร้างบ่อหมีชั่วคราวแล้ว จึงจะส่งเจ้าหน้าที่มารับหมีควายของกลางไปเลี้ยงในภายหลังจริง ข้อนำสืบของจำเลยในข้อนี้จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยได้รับฝากหมีควายของกลางไว้จากนายปลื้มผู้ใหญ่บ้านเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2539 เพื่อส่งมอบให้แก่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุง แต่ทางสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุงยังก่อสร้างบ่อเลี้ยงหมีควายไม่แล้วเสร็จ จึงให้จำเลยรับภาระเลี้ยงดูไปก่อน ส่วนการที่จำเลยรับเลี้ยงดูหมีควายของกลางซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในกรงเหล็กที่หน้าบ้านของจำเลยจะเป็นความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า คำว่า “ครอบครอง” ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มิได้บัญญัติให้มีความหมายเป็นพิเศษ จึงต้องถือว่าการครอบครองในกรณีนี้ต้องมีเจตนายึดถือเพื่อตนทั้งนี้ตามหลักกฎหมายทั่วไป ดังนั้นการที่จำเลยรับเลี้ยงดูหมีควายของกลางซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ชั่วคราวเพื่อรอให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุงมารับไปในภายหลังนั้นจำเลยไม่มีเจตนายึดถือเพื่อตน จึงหาใช่เป็นการมีไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้างมาในคำฟ้องดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์แต่ให้ริบหมีควายของกลางมานั้น จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share