แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในขณะอ.และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อการของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันว่าจ้างโจทก์ออกแบบตกแต่งภายในสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยังไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วได้ใช้สถานที่ซึ่งโจทก์ออกแบบตกแต่งภายในนั้นเป็นสำนักงานของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าที่ประชุมตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ให้สัตยาบันสัญญาว่าจ้างที่จำเลยที่ 2 ได้ทำไว้กับโจทก์ สัญญาว่าจ้างดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จึงพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1113 จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินค่าว่าจ้างให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2529 จำเลยทั้งสองและนายซุน ซิค ลีหรือเอส.เอส.ลี ว่าจ้างโจทก์ให้ออกแบบตกแต่งภายในร้าน “เดลี่ โดนัท” ซึ่งเป็นสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1 คิดเป็นเงินค่าจ้าง 140,000 บาท ตกลงแบ่งขั้นตอนการทำงานและชำระค่าจ้างเป็น 4 งวด โจทก์ได้ปฏิบัติงานให้แก่จำเลยที่ 1 ครบ 4 งวดแล้ว จำเลยทั้งสองชำระเงินงวดที่ 1 และที่ 2ให้แก่โจทก์แล้ว ส่วนงวดที่ 3 และที่ 4 จำนวน 70,000 บาท จำเลยทั้งสองยังไม่ชำระ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยว่าจ้างโจทก์ให้ตกแต่งภายใน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 70,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์และจำเลยที่ 2อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยทั้งสองได้ว่าจ้างโจทก์ให้ออกแบบตกแต่งภายในบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์มีนายวรา หน่อแก้ว กรรมการโจทก์เบิกความว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2529 พยานได้พบกับนายซุน ซิก ลี หรือ เอส.เอส. ลี กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ต่างประเทศ นอกจากนั้นมีจำเลยที่ 2 อยู่ด้วยคนทั้งสองได้พูดกับพยานเรื่องการตกแต่งภายในบริษัทจำเลยที่ 1ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ 3 ทั้งนี้เพื่อให้โจทก์ออกแบบตกแต่งภายในให้ หลังจากนั้นโจทก์ได้จัดทำแบบร่างและประเมินราคาเสนอนายเอส.เอส.ลี ปรากฏตามแบบร่างเอกสาร จ.2ใบประเมินราคาเอกสารหมาย จ.7 นายเอส.เอส.ลี ได้อนุมัติในเอกสารหมาย จ.7 ได้มีการจ้างบริษัทสร้างจำกัด เป็นผู้ก่อสร้าง แต่โจทก์เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง นายเอส.เอส.ลีได้ชำระค่าออกแบบและค่าควบคุมการก่อสร้างให้ 2 งวด คงค้างชำระงวดที่ 3 ที่ 4 เป็นเงิน 70,000 บาท นอกจากนี้โจทก์มีนางสาวจินตนา ล้ำเลิศประเสริฐกุล พนักงานของโจทก์เบิกความสนับสนุนว่า พยานเคยทวงหนี้สินไปยังจำเลยที่ 1 โดยทางโทรศัพท์และเคยให้นายศิริพงษ์ อิ่มธรรมศาสตร์ ไปส่งหนังสือทวงถามนายศิริพงษ์พนักงานของโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความรับว่าเคยนำหนังสือทวงหนี้ไปให้จำเลยที่ 1 ที่ซอยพูลสินหรือซอยสุขุมวิท 66/1 ดังนี้จะเห็นได้ว่า พยานโจทก์เบิกความมีเหตุผลสอดคล้องเชื่อมโยงกันมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า รับโอนสิทธิการเช่าร้านนิวเดลี่โดนัท มาจากนายเอส.เอส.ลี นั้น คงมีแต่พยานบุคคลเบิกความลอย ๆ โดยไม่ปรากฏว่าได้ทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือทั้ง ๆ ที่อ้างว่าเงินค่าโอนสิทธิมีจำนวนถึง 250,000 บาท พยานจำเลยไม่อาจฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ เห็นว่า การที่นายเอส.เอส.ลีตกลงให้โจทก์ออกแบบตกแต่งภายในให้บริษัทจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อการตามรายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.3 นั่งร่วมปรึกษาหารือ ทั้งเมื่อโจทก์ได้ออกแบบตกแต่งภายใน ซึ่งระบุว่าเป็นงานของจำเลยที่ 1 ตามความต้องการของนายเอส.เอส.ลี และจำเลยที่ 2 นายเอส.เอส.ลีได้อนุมัติแบบตกต่างตามใบเสนอราคาเอกสารหมาย จ.7 ถือว่านายเอส.เอส.ลีและจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ออกแบบตกแต่งภายในสำนักงานสาขาของบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ได้ออกแบบตกแต่งภายในและควบคุมการก่อสร้างให้จำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์ได้ทวงถามให้นายเอส.เอส.ลีชำระหนี้ไปยังที่ทำการบริษัทจำเลยที่ 1และได้รับชำระหนี้เป็นการยอมรับว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับนายเอส.เอส.ลี ว่าจ้างโจทก์จริง ซึ่งในขณะที่บุคคลทั้งสองว่าจ้างโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ยังไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถือว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาว่าจ้างในฐานะเป็นผู้เริ่มก่อการของจำเลยที่ 1 ซึ่งก่อนหน้าเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2529 จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเช่าอาคารจากบริษัทเดอะมอลล์ชอบปิ้งเซนเตอร์ (หัวหมาก) จำกัด เพื่อทำเป็นสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1ตามเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 ยังไม่เป็นนิติบุคคล เมื่อจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว ได้ใช้สถานที่ซึ่งโจทก์ออกแบบตกแต่งภายในและควบคุมการก่อสร้างเป็นสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าที่ประชุมตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ให้สัตยาบันสัญญาว่าจ้างที่จำเลยที่ 2 ผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้กับโจทก์ สัญญาว่าจ้างดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 1ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อการและเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จึงพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1113 จำเลยที่ 1ต้องชำระเงินจำนวน 70,000 บาท ให้โจทก์ อนึ่งเกี่ยวกับดอกเบี้ยนั้น ได้ความว่าทนายความโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือทวงถามเอกสารหมาย จ.16 จำเลยที่ 1 ได้รับเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม2530 ตามหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 10 วันนับแต่ได้รับหนังสือ ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 29 สิงหาคม 2530 เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงิน 70,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2530เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์เสร็จสิ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 70,000 บาทให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์