คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 503/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เช่าซื้อเอาเครื่องยนต์โรงสีจำนองไว้ในขณะที่ยังผ่อนส่งชำระราคาค่าเช่าซื้ไม่ครบนั้น เป็นการจำนองที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 705
เครื่องยนต์สีข้าวไม่ใช่ทรัพย์ส่วนควบของตัวโรงสี จำนองไม่ได้ ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 703
(หมายเหตุ ฎีกาที่อ้างถึง คือ ฎีกาที่ 610/2488 วินิจฉัยว่า เครื่องจักร์ทำน้ำโซดาและสิ่งอุปกรณ์ในการทำน้ำโซดา ไม่ใช่ส่วนควบของที่ดิน และว่าในหนังสือซึ่งระบุว่า ยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้นั้น ตามธรรมดาย่อมไม่รวมถึงสิ่งซึ่งไม่ใช่ส่วนควบของที่ดิน)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๙๗ จำเลยที่ ๒ จำนองเครื่องยนต์สีข้าวไว้กับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยเครื่องอุปกรณ์สีข้าวครบชุดและเรือนโรงสีเฉพาะเครื่องสีข้าวพร้อมด้วยเครื่องยนต์และอุปกรณ์เป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ ๒ เช่าซื้อจากบริษัทอุตสาหกรรมฯ เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖ เพิ่งผ่อนชำระงวดสุดท้ายเสร็จเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๔๙๘ ต่อมาวันที ๖ กันยายน ๒๔๙๘ จำเลยที่ ๒ ได้เอาทรัพย์ดังกล่าวพร้อมด้วยที่ดินที่ตั้งโรงสีข้าวจำนองไว้กับโจทก์เป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท โดยปิดบังอำพรางไม่ให้ทราบว่าได้จำนองไว้กับจำเลยที่ ๑ การจำนองระหว่างจำเลยทั้งสองไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะระหว่างทำสัญญาจำนอง จำเลยที่ ๒ ไม่มีกรรมสิทธิ์ โดยยังชำระเงินค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วนตามสัญญา และขณะทำสัญญาจำนองเครื่องสีข้าวและเครื่องยนต์สีข้าวรายนี้มิใช่อสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ประเภทที่กฎหมายให้จดทะเบียนเฉพาะการ การจำนองจึงใช้ไม่ได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าการจำนองระหว่างจำเลยทั้งสองไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยที่ ๑ ไม่มีบุริมสิทธิ์ขอรับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์นี้ก่อนโจทก์
จำเลยที่ ๑ ต่อสู้ว่า ได้รับจำนองไว้โดยสุจริต ถึงหากจะฟังว่าจำเลยที่ ๒ ยังส่งค่าเช่าซื้อไม่หมดในขณะจำนอง แต่ผลที่สุดกรรมสิทธิ์ก็เป็นของจำเลยที่ ๒ และการจำนองระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตั้งหลักฐานแห่งสิทธิโดยคำพิพากษาของศาลคดีแพ่งแดงที่ ๑๑๓/๒๔๙๘ (คือ คดีที่จำเลยที่ ๑ ฟ้องบังคับจำนองจำเลยที่ ๒) แล้ว
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เครื่องยนต์สีข้าวซึ่งติดตั้งอยู่กับอาคารโรงสีเป็นส่วนควบของโรงสีๆ เปิดสีข้าว ๒ ปีแล้ว จึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่จำนองกันได้ และฟังว่าเมื่อจำเลยที่ ๒ จำนองโรงสีไว้กับจำเลยที่ ๑ นั้น เครื่องยนต์และเครื่องสีข้าวยังอยู่ในระหว่างเช่าซื้อ ยังไม่ตกเป็นสิทธิแก่จำเลยที่ ๒ การจำนองจึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐๕ พิพากษาว่า สัญญาจำนองระหว่างจำเลยทั้งสองซึ่งทำเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๙๗ ไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดเฉพาะเครื่องยนต์เครื่องสีข้าวและอุปกรณ์รายนี้ก่อนโจทก์
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โรงสีข้าวรายนี้เป็นอสังหาริมทรัพย์ จำนองกันได้ จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของโรงสีอันเป็นทรัพย์ประธาน แม้จะชำระราคาเครื่องยนต์ที่เช่าซื้อยังไม่ครบ ก็เป็นเรื่องบริษัทผู้ให้เช่าจะว่ากล่าวเรียกร้องราคาเอาในระหว่างที่การชำระราคาไม่ครบเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๗, ๑๓๑๖ และภายหลังต่อมาจำเลยที่ ๒ ก็ได้ชำระราคาครบถ้วน ต่อจากนั้นก็ไม่มีปัญหาว่าถ้าแยกเครื่องยนต์ออกจากโรงสีข้าวแล้ว เครื่องยนต์นั้นจะเป็นของคนอื่นนอกจากจำเลยที่ ๒ เมื่อปรากฎว่าจำเลยที ๑ รับจำนองก่อน ย่อมได้รับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองก่อนโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า สัญญาจำนองระหว่างจำเลยทั้งสองทำเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๙๗ แต่จำเลยที่ ๒ เพิ่งชำระราคาค่าเช่าซื้อเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๔๙๘ แล้วนำโรงสีรายนี้กับทรัพย์อื่นบางอย่างไปจำนองไว้กับโจทก์ในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ ๖ กันยายน ๒๔๙๘ เพราะเงินที่ใช้ชำระค่าเช่าซื้อ คือเงินที่โจทก์ให้กู้ไป โดยโจทก์ประสงค์ให้ทรัพย์ที่เช่าซื้อตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ เสียก่อน แล้วโจทก์จึงจะรับจำนองในวันรุ่งขึ้น
ปัญหาข้อกฎหมายจึงมีว่า สัญญาจำนองระหว่างจำเลยทั้งสองสมบูรณ์หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๒ ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เช่นที่ผิดนัดไม่ใช้เงิน เจ้าของทรัพย์สินอาจบอกเลิกสัญญา ริบเงินที่ได้ใช้มาแล้ว และกลับเข้าครอบครองทรัพย์นั้นได้ เครื่องยนต์และเครื่องสีข้าวรายพิพาทจึงยังไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลยที่ ๒ จนกระทั่งถึงวันที่ ๕ กันยายน ๒๔๙๘ และเพราะจำเลยที่ ๒ ยังไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ จำเลยที่ ๒ จำนองทรัพย์นั้นจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา ๗๐๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และศาลฎีกาเห็นว่าตัวโรงสีกับเครื่องยนต์แยกออกจากกันได้เป็นคนละส่วนกัน อ้างฎีกาที่ ๖๑๐/๒๔๘๘ ซึ่งวินิจฉัยว่า สิ่งปลูกสร้างกับเครื่องจักร์เป็นคนละส่วน เครื่องจักร์ไม่ใช่ส่วนควบของที่ดิน ส่วนมาตรา ๑๓๑๖ ปรับกับคดีนี้มิได้ และโดยเหตุที่ได้วินิจฉัยไว้เป็นแบบอย่างแล้วเช่นนี้ จึงฟังว่าเครื่องยนต์และเครื่องสีข้าวเป็นอสังหาริมทรัพย์ และเป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่ใช่ประเภทที่อาจจำนองกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐๓ ถึงแม้ต่อมาจำเลยที่ ๒ จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์เหล่านั้น ก็ไม่มีทางจะถือว่าเป็นจำนองได้เลย จะถือว่าเป็นจำนำก็ไม่ได้ เพราะไม่มีการส่งมอบทรัพย์ให้แก่เจ้าหนี้
ศาลฎีกาพิพากษากลับศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share