คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5028/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ภาษีเงินได้ที่บริษัทจำเลยนำส่งกรมสรรพากรและเงินประกันสังคมที่นำส่งสำนักงานประกันสังคม จำเลยออกให้ลูกจ้างทุกคนรวมทั้งโจทก์ ซึ่งเงินสองจำนวนดังกล่าวโจทก์ในฐานะผู้มีเงินได้และลูกจ้างผู้ประกันตนมีหน้าที่ต้องชำระโดยจำเลยจะหักจำนวนเงินดังกล่าวไว้จากค่าจ้างและนำส่งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อจำเลยมิได้หักเงินดังกล่าวจากค่าจ้างของโจทก์แต่ออกเงินนั้นแทนโจทก์ ภาษีเงินได้และเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่จำเลยออกให้จึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายแทนโจทก์ มิได้จ่ายให้แก่โจทก์จึงเป็นเงินประเภทอื่น มิใช่เงินที่จำเลยและโจทก์ตกลงจ่ายกันเป็นค่าตอบแทนในการทำงาน จึงมิใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างในกรณีเลิกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 และเป็นเงินที่จ่ายให้สำหรับระยะเวลาที่จะมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างโดยลูกจ้างมิได้ทำงานให้แก่นายจ้าง ดังนั้น สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงมิใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5 และมิใช่ค่าจ้างตามมาตรา 9 วรรคหนึ่งด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2543 จำเลยจงใจกลั่นแกล้งโจทก์โดยไม่จ่ายเงินเดือนให้โจทก์ตามปกติเพื่อมิให้โจทก์ทนทำงานกับจำเลยได้ต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 1 และ 2 สิงหาคม 2543จำเลยไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำงานตามปกติ ไม่ยอมให้โจทก์ติดต่อกับลูกค้าที่มาซื้อสินค้าในบริษัทจำเลย พยายามทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าโจทก์มีปัญหาในการทำงานไม่จ่ายเงินเดือนที่ค้างให้โจทก์ และบอกเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจา การกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินส่วนแบ่งกำไรจากการขายพลอยและอัญมณี200,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 77,585.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าจ้างที่ค้าง155,170.82 บาท และค่าชดเชย 1,209,548.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จและเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทุก 7 วันนับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 3,500,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกลั่นแกล้งโจทก์ ที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินส่วนแบ่งกำไรจากการขายพลอยและอัญมณีที่จำเลยให้โจทก์ไปซื้อจากจังหวัดจันทบุรีเป็นเงิน 200,000บาท นั้น โจทก์เป็นเพียงลูกจ้างคนหนึ่งของจำเลยไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากผลกำไรโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษเพราะเหตุโจทก์ออกจากงานไม่ได้เกิดจากจำเลยปรับปรุงกิจการ แต่เนื่องจากโจทก์จงใจทำให้จำเลยเสียหาย ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะความประพฤติของโจทก์เองซึ่งจำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยชอบและเป็นธรรมแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2543 เงินภาษีและเงินประกันสังคมไม่ใช่เงินที่จำเลยจ่ายตอบแทนการทำงานของโจทก์ แต่จำเลยจ่ายให้แก่ทางราชการเป็นสวัสดิการให้แก่โจทก์จึงไม่ใช่ค่าจ้าง โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 68,000 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายโดยกำหนดให้เท่ากับ 30 วัน ตามที่โจทก์ขอโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน แต่การเลิกจ้างโจทก์ไม่ใช่กรณีเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120 ถึงมาตรา 122 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่ามีข้อตกลงให้จำเลยแบ่งส่วนกำไรจากการขายพลอยและอัญมณีให้โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งกำไร จำเลยค้างชำระค่าจ้างโจทก์ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2543 รวมเป็นเงิน 70,266.67 บาท จำเลยพร้อมจะจ่ายค่าจ้างที่ค้างและค่าชดเชยแต่โจทก์ไม่ยอมรับไม่ใช่กรณีจำเลยจงใจไม่จ่ายโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน และจำเลยไม่ได้ผิดนัดชำระค่าจ้างและค่าชดเชยจึงกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 68,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จ่ายค่าชดเชยจำนวน 680,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 680,000 บาท และค่าจ้างค้างจำนวน 70,266.67 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่าเงินค่าภาษีและเงินประกันสังคมที่จำเลยจ่ายในคดีนี้เป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ค่าจ้าง หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวันรายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้” เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าภาษีเงินได้ที่จำเลยนำส่งกรมสรรพากรและเงินประกันสังคมที่จำเลยนำส่งสำนักงานประกันสังคมจำเลยออกให้ลูกจ้างของจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วย ซึ่งภาษีเงินได้และเงินสมทบกองทุนประกันสังคมนั้น โจทก์ในฐานะผู้มีเงินได้และลูกจ้างผู้ประกันตนมีหน้าที่จักต้องชำระโดยจำเลยจะหักเงินจำนวนดังกล่าวไว้จากค่าจ้างและนำส่งให้แก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เมื่อจำเลยมิได้หักเงินจำนวนดังกล่าวจากค่าจ้างของโจทก์ แต่ออกเงินนั้นแทนโจทก์และส่งไปส่วนราชการดังกล่าว ภาษีเงินได้และเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่จำเลยออกให้แก่โจทก์จึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่ส่วนราชการเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายและเป็นการจ่ายแทนโจทก์ มิได้จ่ายให้แก่โจทก์ เป็นเงินประเภทอื่นมิใช่เงินที่จำเลยและโจทก์ตกลงจ่ายให้แก่กันเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างจึงมิใช่ค่าจ้างตามบทกฎหมายข้างต้น ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเงินทั้งสองประเภทจะต้องนำไปรวมเป็นเงินได้ของโจทก์และคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย และจำเลยมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินภาษีที่จำเลยตกลงจ่ายให้แก่โจทก์ด้วยนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร ไม่เกี่ยวกับปัญหาว่าเงินทั้งสองประเภทดังกล่าวเป็นค่าจ้างหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อมาว่าจำเลยต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเท่าใด เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2543 จำเลยได้บอกเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจา ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างเดือนสิงหาคม 2543 และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน ซึ่งพอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกเงินจากจำเลยสำหรับระยะเวลา 2 เดือน คือ เดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2543 เมื่อจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 2 สิงหาคม 2543 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับการทำงานในวันที่ 1 สิงหาคม 2543 (ซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์แล้ว) และการบอกเลิกจ้างในวันดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่ง จะมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าคือในวันที่ 30 กันยายน 2543 จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ควรได้รับสำหรับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2543 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2543 เป็นเงิน 133,733.33 บาทอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น

มีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อมาว่าจำเลยต้องจ่ายเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ด้วยหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยพร้อมที่จะจ่ายเงินค่าจ้างค้างและค่าชดเชยให้โจทก์ตลอดมาแต่โจทก์ไม่ยอมรับ โดยจำเลยมิได้โต้แย้งว่าจะไม่จ่ายแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ใช่เรื่องจำเลยจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรดังนั้น ที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่าเหตุผลอันสมควรตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จะต้องเป็นเหตุผลที่มีอยู่ตลอดเวลาที่นายจ้างยังมิได้จ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมาย กรณีเหตุผลสมควรนั้นได้จบสิ้นไปแล้วเมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้ แต่จำเลยยังคงไม่จ่ายเงินให้แก่โจทก์โดยไม่ปรากฏเหตุผลอันสมควรอื่นใด ทั้งมิได้นำเงินไปมอบไว้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้น จึงเป็นการแปลบทกฎหมายข้างต้นขึ้นเองเพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงใหม่เป็นว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ซึ่งเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

มีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อมาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันผิดนัดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยพร้อมจะจ่ายเงินค่าจ้างค้างและค่าชดเชยให้โจทก์ตลอดมา แต่โจทก์ไม่ยอมรับเนื่องจากเกี่ยงเรื่องอัตราค่าจ้างที่จะนำมาคำนวณเป็นค่าชดเชยอยู่ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัด ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นมิใช่หนี้เงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง นายจ้างจะตกเป็นผู้ผิดนัดรับผิดชำระดอกเบี้ยต่อเมื่อลูกจ้างทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อใด จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยในค่าจ้างค้าง ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายว่าจำเลยต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าร้อยละ 15 ต่อปี หรือไม่ เห็นว่า สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเนื่องจากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคสอง และเป็นเงินที่จ่ายให้สำหรับระยะเวลาที่จะมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างโดยลูกจ้างมิได้ทำงานให้แก่นายจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงมิใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 และมิใช่ค่าจ้างตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่นายจ้างจะต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ที่โจทก์อ้างว่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสี่ นั้นเป็นการยกข้อกฎหมายที่ไม่ตรงกับรูปเรื่องในคดีนี้เนื่องจากจำเลยมิได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามบทมาตราที่โจทก์อ้างนั้น อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยดังกล่าวโดยมิได้วินิจฉัยว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 133,733.33 บาท และไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 680,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share