คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5027/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ตามสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 2 ชำระราคาทรัพย์พิพาทที่ซื้อจากจำเลยที่ 1 ต่างไปจากราคาที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาซื้อขายเป็นการนำสืบถึงข้อความจริงว่าจำเลยที่ 2 ซื้อทรัพย์พิพาทจากจำเลยที่ 1 มาในราคาเท่าใด มิใช่เป็นการนำสืบเพื่อให้บังคับตามหนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2546 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น เลขที่ 47/109 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 16994 ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีกับโจทก์ ในราคา 380,000 บาท ทรัพย์ดังกล่าวติดจำนองและโจทก์มีหน้าที่ไถ่ถอนจำนองเอง โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 380,000 บาท แล้ว ครั้นวันที่ 3 กันยายน 2546 จำเลยที่ 1 ไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ตามที่ตกลง ซึ่งในวันที่ 2 กันยายน 2546 โจทก์ตรวจสอบแล้วพบว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยร่วมกันคบคิดฉ้อฉลโจทก์อันเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 16994 ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พร้อมทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น เลขที่ 47/109 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายหากไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 หากไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินพิพาทได้ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 764,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 380,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 380,000 บาท โจทก์ไม่มีสัญญากู้ยืมเงินจึงให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อลงลายมือชื่อในสัญญาจะซื้อจะขายที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ขณะจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสัญญายังกรอกข้อความไม่ครบถ้วนทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินพิพาทมีราคาซื้อขายในท้องตลาดกว่า 2,000,000 บาท มีภาระจำนองเพียง 1,200,000 บาท เป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ 1 จะขายในราคา 380,000 บาท แสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาแท้จริงในการทำสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินพิพาทกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่เคยรู้จักกับโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นการส่วนตัว จำเลยที่ 2 ซื้อทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและทำโดยเปิดเผย ณ สำนักงานที่ดิน จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่า จำเลยที่ 1 และโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านกันมาก่อน จำเลยทั้งสองไม่ได้คบคิดกันฉ้อฉลโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 380,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 กันยายน 2546) ไม่เกิน 4,750 บาท ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดี กับให้ใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ จำนวน 3,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมจำเลยที่ 1 จำนองทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น เลขที่ 47/109 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 16994 ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่พิพาทกับธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาวันที่ 3 กรกฎาคม 2546 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์ที่พิพาทกับโจทก์ราคา 380,000 บาท โดยโจทก์ต้องไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองทรัพย์พิพาทเองตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 ครั้นวันที่ 21 สิงหาคม 2546 จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองทรัพย์ที่พิพาทและขายทรัพย์ที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันเดียวกัน ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสำเนาหนังสือสัญญาขายเอกสารหมาย จ.6 และ จ.10
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 ได้รู้เท่าถึงข้อความอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า หลักจากทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์พิพาท ต่อมาประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2546 โจทก์กับนายพิเชษฐ์คนขับรถไปดูทรัพย์พิพาทและพบกับจำเลยที่ 2 โจทก์พูดคุยกับจำเลยที่ 2 ว่าตกลงจะซื้อทรัพย์พิพาทจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 พูดคุยว่าซื้อได้ในราคาถูก หลังจากนั้นจึงมีการแลกเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์กัน แต่นายพิเชษฐ์กลับเบิกความว่า ไม่ได้ยินข้อความที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 พูดคุยกัน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 2 รู้ถึงการที่โจทก์ตกลงจะซื้อทรัพย์พิพาทก่อนจำเลยที่ 2 ซื้อทรัพย์พิพาทจึงเลื่อนลอย ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบปฏิเสธว่า จำเลยที่ 2 เคยไปดูทรัพย์พิพาท 1 ครั้ง ไม่ได้พบกับโจทก์และนายพิเชษฐ์ และจำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามติงว่าหลังจากซื้อทรัพย์พิพาทได้ปิดป้ายให้เช่าและระบุหมายเลขโทรศัพท์ไว้สำหรับการติดต่อ หลังจากนั้นโจทก์โทรศัพท์พูดคุยกับสามีจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์พิพาทกับโจทก์แต่จำเลยที่ 2 กับสามีไม่เคยทราบมาก่อน ศาลฎีกาพิพารณาแล้วปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ซื้อทรัพย์พิพาทในราคาที่สูงกว่าที่โจทก์จะซื้อนอกจากนี้โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นในขณะที่จำเลยที่ 1 ขายทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 รู้ถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์พิพาทกับโจทก์ไว้ก่อนแล้วที่โจทก์ฎีกาว่า กรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกันฉ้อฉลโจทก์ไม่ใช่เรื่องที่จะนำพยานหลักฐานชัดๆ มาแสดงได้โดยง่าย แต่ต้องพิจารณาพฤติการณ์ประกอบด้วย เพราะจำเลยที่ 2 ไม่จำต้องเร่งรีบซื้อทรัพย์พิพาทในราคา 2,000,000 บาท เพื่อให้ได้ค่าเช่า 6,500 บาท ต่อเดือน โดยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปฝากจากธนาคารดีกว่า หากไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ปัญหาเรื่องนี้จำเลยที่ 2 เบิกความว่า ทรัพย์พิพาทเป็นทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น ประตูไม้สักสีธรรมชาติจำเลยที่ 2 ปรึกษากับสามีแล้วเห็นว่าราคา 2,000,000 บาท เป็นราคาที่เหมาะสมและตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินเลยไม่ได้วางมัดจำเนื่องจากไม่รู้จักกับจำเลยที่ 1 มาก่อน พยานหลักฐานจำเลยที่ 2 สมเหตุสมผลมีน้ำหนักรับฟังมากกว่าโจทก์ ส่วนที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การเถียงแทนจำเลยที่ 1 ว่า สัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นสัญญากู้หรือจำเลยที่ 2 ไม่จำเป็นต้องแต่งตั้งทนายความเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 และออกเงินค่าใช้จ่ายให้ด้วย นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ต้องร่วมมือกับจำเลยที่ 1 ให้การเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าซื้อบ้านพิพาทในราคา 1,200,000 บาท เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ให้เสียภาษีน้อยลงเป็นพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้จักกันมาก่อนและร่วมมือเพื่อสมคบกันฉ้อฉลโจทก์นั้น เห็นว่า คำให้การของจำเลยที่ 2 มีทนายความคนเดียวกับทนายความจำเลยที่ 1 เป็นผู้เรียง ย่อมต้องทราบข้อเท็จจริงมาจากจำเลยที่ 1 และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เบิกความรับว่า จำเลยที่ 2 ออกเงินค่าทนายความให้จำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 เบิกความว่า ทำสัญญาซื้อขายทรัพย์พิพาท 1,200,000 บาท เท่าราคาประเมิน โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด จำเลยที่ 2 ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการเสียภาษีซื้อขายที่ดิน ดังนี้ ข้ออ้างของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังตามที่โจทก์อ้าง ที่โจทก์ฎีกาว่า ก่อนจำเลยที่ 1 ขายทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์เคยพบจำเลยที่ 2 และสามีที่ทรัพย์พิพาท ทั้งได้แลกหมายเลขโทรศัพท์กันนั้น เห็นว่า มีโจทก์เบิกความปากเดียวอ้างว่าได้พบกับจำเลยที่ 2 และสามี แล้วได้แลกหมายเลขโทรศัพท์กัน โดยโจทก์ไม่มีพยานประกอบอื่นมาสนับสนุน ส่วนจำเลยที่ 2 กลับอ้างว่าโจทก์ได้หมายเลขโทรศัพท์สามีจำเลยที่ 2 ตามที่ปิดประกาศให้คนที่จะเช่าทรัพย์พิพาทติดต่อและโจทก์โทรศัพท์ติดต่อไปหลังจากมีการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทแล้ว จึงทำให้ข้ออ้างของโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟัง ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างฝ่ายต่างฟังคำเบิกความของอีกฝ่ายที่เบิกความมาแล้ว สามารถสมคบเบิกความให้สอบคล้องกันได้โดยง่ายนั้น เห็นว่า ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านการผิดระเบียบต่อศาลชั้นต้น ย่อมไม่มีน้ำหนักรับฟังอย่างไรก็ตามเห็นว่า แม้กรณีเป็นดังที่โจทก์ฎีกาก็ไม่สามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 114 วรรคสอง และที่โจทก์ฎีกาว่าหนังสือสัญญาขายตามเอกสารหมาย จ.10 ทำที่สำนักงานที่ดินต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบปกปิดราคาแท้จริงแล้วแจ้งเท็จต่อเจ้าหน้าที่ที่ดิน เพื่อเบียดบังประโยชน์จากรัฐ แต่พอมาที่ศาลจำเลยที่ 1 และที่ 2 ช่วยกันสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญาดังกล่าวเพื่อยันโจทก์ ประกอบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินตามแคชเชียร์เช็คฉบับที่ 2 แล้ว จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 ขายทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เพียง 1,200,000 บาท เท่ากับที่ติดจำนองธนาคารนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ชำระราคาทรัพย์พิพาทที่ซื้อจากจำเลยที่ 1 ต่างไปจากราคาที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาขายตามเอกสาร หมาย จ.10 เป็นการนำสืบถึงข้อความจริงว่าจำเลยที่ 2 ซื้อทรัพย์พิพาทจากจำเลยที่ 1 มาในราคาเท่าใด มิใช่เป็นการนำสืบเพื่อให้บังคับตามหนังสือสัญญาขายดังกล่าว จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) ประกอบกับจำเลยที่ 1 เบิกความรับว่า จำเลยที่ 2 ซื้อทรัพย์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ราคา 2,000,000 บาท โดยจ่ายเป็นเช็คตามเอกสารหมาย ล.1 จำนวน 1,253,895 บาท เช็คตามเอกสารหมาย ล.2 จำนวน 646,150 บาท และเป็นเงิน 10,000 บาท ตามที่จำเลยที่ 1 เขียนไว้ด้านล่างเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งรวมแล้วเป็นจำนวน 2,000,000 บาท และเช็คตามเอกสารหมาย ล.2 ระบุชื่อจ่ายให้จำเลยที่ 1 และเป็นเช็คขีดคร่อมพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่นำสืบฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ซื้อทรัพย์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ราคา 2,000,000 บาท ฎีกาข้ออื่นนอกจากนี้ไม่เป็นสาระแก่คดีหรือไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบฟังไม่ได้ว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ขายทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 ได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 วรรคหนึ่ง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share