คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5024/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรทำหน้าที่เป็นพนักงานสินเชื่อประจำสาขาจังหวัดชุมพรเมื่อผู้จัดการสาขาชุมพร อนุญาตให้พนักงานธนาคารฝึกซ้อมกีฬาโดยถือเป็นการปฏิบัติงานของธนาคาร และตามระเบียบของธนาคารฉบับที่ 21ว่าด้วยการแข่งขันกีฬาของธนาคารยังกำหนดว่าการฝึกซ้อมกีฬาและการแข่งขันกีฬาให้ถือเป็นการปฏิบัติงานของธนาคาร โจทก์ประสบอันตรายขณะฝึกซ้อมกีฬา จึงถือเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง นายจ้างต้องจ่ายเงินทดแทนให้โจทก์ การกำหนดประเภทกิจการของนายจ้างก็เพื่อประโยชน์ในการเรียกเก็บเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบ การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่20 พฤศจิกายน 2517 เท่านั้น หาใช่เป็นการจำกัดว่าลูกจ้างจะต้องประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานตามประเภทของกิจการของนายจ้างจึงจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนไม่ โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้พอให้เข้าใจแล้วว่า ค่าพาหนะเดินทางจากโรงพยาบาลวิรัชศิลป์ไปโรงพยาบาลมิชชั่นที่โจทก์ต้องเสียไปคือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตรวจ การรักษา การพยาบาลและการอื่นที่จำเป็นอันเป็นค่ารักษาพยาบาลตามกฎหมายแล้ว เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าค่าพาหนะตามที่โจทก์ฟ้องไม่ใช่ค่ารักษาพยาบาลโจทก์ไม่ต้องใช้รถพยาบาล ค่าพาหนะตามคำฟ้องจึงเป็นค่ารักษาพยาบาลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินทดแทนที่สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจะต้องจ่ายให้โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าพาหนะจากการว่าจ้างรถพยาบาลเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาชุมพร ทำหน้าที่สอบสวนผู้ขอกู้เงิน และยังเป็นนักกีฬาในตำแหน่งหัวหน้าทีมของธนาคารดังกล่าวตามคำสั่งที่ 33/2531 ของผู้จัดการสาขา ธนาคารมีระเบียบฉบับที่ 21 ว่าด้วยการแข่งขันกีฬาของธนาคารกำหนดไว้ เพื่อให้ลูกจ้างผ่อนคลายความตึงเครียดในงานประจำวัน อันส่งผลให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ภายในและภายนอกของธนาคาร โจทก์ฝึกซ้อมกีฬาบาสเกตบอล ขณะฝึกซ้อมโจทก์ถูกกระแทกล้มลง เกิดอาการเจ็บหน้าอกหายใจไม่สะดวกและทรุดหนักลงโจทก์ให้แพทย์ที่โรงพยาบาลชุมพรตรวจรักษาแต่ไม่ดีขึ้น จึงเข้ารักษาที่โรงพยาบาลวิรัชศิลป์ แต่อาการไม่ดีขึ้น โจทก์จ้างรถพยาบาลส่งตัวจากโรงพยาบาลวิรัชศิลป์ไปโรงพยาบาลมิชชันจำนวน 6,900 บาทเสียค่ารักษาพยาบาล และโจทก์ต้องหยุดพักรักษาตัวตั้งแต่วันที่25 สิงหาคม 2531 ถึงวันที่ 9 กันยายน 2531 รวมเป็นเงินทดแทนทั้งสิ้นจำนวน 17,074 บาท จำเลยไม่จ่ายให้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินทดแทนจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นพนักงานสินเชื่อ มีหน้าที่ปฏิบัติงานเพื่อต้อนรับเกษตรกรลูกค้าและให้บริการด้านการเงินแก่ลูกค้าไม่มีหน้าที่เล่นกีฬาโจทก์มิได้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า อาการเจ็บป่วยของโจทก์ไม่จำเป็นต้องใช้รถพยาบาล ค่าพาหนะจึงไม่ใช่ค่ารักษาพยาบาล จำเลยคงต้องรับผิดจ่ายเงินทดแทนสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสองแห่งกับค่าทดแทนจำนวน 2,796 บาทเท่านั้น พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมแรงงานที่ มท.111/7412 ลงวันที่ 3 เมษายน 2532 และให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 10,174 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ได้ความว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทำหน้าที่เป็นพนักงานสินเชื่อประจำอยู่ที่สาขาจังหวัดชุมพร นายสมชัย แสงสว่างผู้จัดการสาขาจังหวัดชุมพร มีคำสั่งที่ 22/2531 เอกสารหมาย จ.2อนุญาตให้พนักงานธนาคารฝึกซ้อมกีฬาตั้งแต่เวลา 15.30 นาฬิกาโดยถือเป็นการปฏิบัติงานของธนาคาร ตามคำสั่งดังกล่าวโจทก์เป็นหัวหน้าทีมนักกีฬา นอกจากนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรนายจ้างของโจทก์ยังมีระเบียบฉบับที่ 21 ว่าด้วยการแข่งขันกีฬาของธนาคารเอกสารหมาย จ.3 กำหนดวัตถุประสงค์ในการแข่งขันกีฬาของธนาคารตามข้อ 3(3) ว่า เพื่อเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดของพนักงานจากการปฏิบัติงานประจำวันอันจะส่งผลให้การปฏิบัติงานของพนักงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและตามข้อ 3(4) เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ภายในและภายนอกของธนาคาร ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการแข่งขันกีฬาก็เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่การบริหารงานของนายจ้างนั่นเอง ระเบียบดังกล่าวข้อ 20 ยังได้กำหนดว่าการแข่งขันกีฬาและการฝึกซ้อมกีฬาของพนักงานธนาคารตามข้อ 11 ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติงานของธนาคาร ส่วนประเภทของกีฬาก็มีกำหนดไว้ในข้อ 7 ว่าการแข่งขันบาสเกตบอลเป็นกีฬาที่จัดอยู่ในประเภทการแข่งขันของธนาคารฉะนั้น การที่โจทก์ฝึกซ้อมกีฬาบาสเกตบอล จึงถือว่าเป็นการทำงานให้นายจ้าง แม้โจทก์ประสบอันตรายในขณะฝึกซ้อมเมื่อเวลา 18 นาฬิกาซึ่งอยู่นอกเวลาทำงานปกติ ก็ไม่ถือว่าโจทก์ประสบอันตรายนอกเวลาทำงานปกติของนายจ้าง เพราะตามคำสั่งที่ 33/2531 กำหนดให้นักกีฬาทำการฝึกซ้อมได้ตั้งแต่เวลา 15.30 นาฬิกาเป็นต้นไป ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การประสบอันตรายของโจทก์เนื่องจากการทำงานให้นายจ้างชอบแล้ว และ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบ การจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์(ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2517 ข้อ 2 กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามอัตราเงินสมทบซึ่งกำหนดไว้ในตารางที่ 1 ท้ายประกาศนั้นและเงินสมทบให้คำนวณจากค่าจ้างที่นายจ้างจะต้องจ่ายและอัตราเงินสมทบของประเภทกิจการของนายจ้างผู้นั้นดังนั้นการกำหนดประเภทกิจการของนายจ้างก็เพื่อประโยชน์ในการเรียกเก็บเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนเท่านั้น หาใช่เป็นการจำกัดว่าลูกจ้างจะต้องประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานตามประเภทกิจการของนายจ้างจึงจะมีสิทธิรับเงินทดแทนไม่ เพราะประเภทกิจการหนึ่งอาจจะมีการทำงานหลายอย่างรวมกันอยู่ เช่น ประเภทกิจการสถาบันทางการเงินมีกิจการประจำคืองานเกี่ยวกับการเงิน แต่ก็อาจมีงานขับรถยนต์ติดต่อกับบุคคลภายนอกหรือการกีฬารวมอยู่ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การฝึกซ้อมกีฬาบาสเกตบอลของโจทก์ถือว่าเป็นการทำงานให้นายจ้างดังได้วินิจฉัยมาแล้ว เมื่อโจทก์ประสบอันตรายโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับเงินทดแทน
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เงินค่าพาหนะจำนวน 6,900 บาท ไม่ใช่ค่ารักษาพยาบาลเป็นการไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน2515 ข้อ 2 ให้คำนิยามว่า “ค่ารักษาพยาบาล” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตรวจ การรักษา การพยาบาลและการอื่นที่จำเป็นเพื่อให้ผลของการประสบอันตรายหรือการเจ็บป่วยบรรเทาหรือหมดสิ้นไป ฯลฯโจทก์บรรยายฟ้องได้ความว่า เมื่อโจทก์ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลวิรัชศิลป์ที่จังหวัดชุมพร แพทย์โรงพยาบาลวิรัชศิลป์รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลมิชชั่นที่กรุงเทพมหานครโจทก์ต้องเสียค่าพาหนะเดินทางจากโรงพยาบาลวิรัชศิลป์ไปโรงพยาบาลมิชชัน คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้พอให้เข้าใจว่า ค่าพาหนะคือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตรวจ การรักษา การพยาบาลและการอื่นที่จำเป็นอันเป็นค่ารักษาพยาบาลตามกฎหมายแล้ว จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าค่าพาหนะตามที่โจทก์ฟ้องไม่ใช่ค่ารักษาพยาบาล โจทก์ไม่ต้องใช้รถพยาบาลในการเดินทางเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมิชชัน ค่าพาหนะตามคำฟ้องจึงเป็นค่ารักษาพยาบาลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินทดแทนที่สำนักงานกองทุนเงินทดแทนของจำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าพาหนะจากการว่าจ้างรถพยาบาล เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินค่าพาหนะจำนวน 6,900 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (รวมเงินทดแทนที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์เป็นเงิน 17,074 บาท) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share