คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5021/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยรับโอนโจทก์จากหน่วยงานอื่นมาเป็นลูกจ้างโดยจะให้โจทก์ได้รับอัตราเงินเดือนในขั้นใกล้เคียงที่ต่ำกว่าแต่ไม่เกินอัตราขั้นสูงสุดของแต่ละตำแหน่งส่วนเงินจำนวนที่ขาดไปนั้นจำเลยจะจ่ายให้เท่าที่เคยได้รับมาก่อน ซึ่งเรียกว่า “เงินเพิ่มพิเศษ”โดยมีหลักเกณฑ์ว่าจะจ่ายให้เป็นการชั่วคราวในระยะเวลาเพียง 6 เดือน โจทก์ตกลงยินยอมตามนั้น ความยินยอมของโจทก์จึงเป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันโจทก์จำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อครบ 6 เดือนแล้ว ภายหลังจากนั้นโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มพิเศษจากจำเลยอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของกระทรวงกลาโหมในสังกัดโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2528 จำเลยรับโอนโจทก์มาเป็นลูกจ้างของจำเลยโดยตกลงจะให้ค่าจ้างรวมทั้งสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ เท่าที่เคยได้รับอยู่เดิมซึ่งโจทก์ได้รับเงินเพิ่มพิเศษอยู่เดือนละ 518 บาท แต่เมื่อรับโอนโจทก์มาแล้วจำเลยได้ตัดเงินเพิ่มพิเศษดังกล่าวไม่จ่ายให้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2528 ถึงวันที่ 30มิถุนายน 2529 คิดเป็นเงินรวม 7,252 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเพิ่มพิเศษเป็นเงิน 7,252 บาท ให้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับโอนโจทก์มาเป็นลูกจ้างของจำเลยตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 มาตรา 60 เนื่องจากจำเลยมีบัญชีอัตราเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานมีอัตราชั้น 4 เดือนละ 9,320 บาทและชั้น 5 เดือนละ 9,940 บาท แต่โจทก์ได้รับเงินเดือนและเงินเพิ่มพิเศษเป็นเงิน9,838 บาท ซึ่งไม่อยู่ในโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนของจำเลย จำเลยจึงได้ออกคำชี้แจ้งเรื่องการรับโอนบุคลากรจากโรงกลั่นน้ำมันทหารว่า สำหรับเงินที่ขาดจะจ่ายให้เรียกว่า “เงินเพิ่มพิเศษ” เป็นการชั่วคราวเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2528 เป็นต้นไป หลังจากนั้นจะบรรจุแต่งตั้งและให้ได้รับเงินเดือนตามโครงสร้างตำแหน่งและอัตราเงินเดือนรวมทั้งมีสิทธิได้เลื่อนเงินเดือนประจำปีตามหลักเกณฑ์ปกติของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยต่อไป โจทก์ได้ตกลงยอมรับตามประกาศดังกล่าว ดังนั้น จำเลยจึงจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2528 เดือนละ 9,320 บาท และเงินเพิ่มพิเศษอีกเดือนละ 518 บาท รวมเป็นเงิน 9,838 บาท ตามที่โจทก์เคยได้รับและเป็นไปตามความในมาตรา 60 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2521 เมื่อโจทก์ได้รับเงินเดือนขึ้นจากเดือนละ 9,720 บาท เป็นเดือนละ9,940 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2528 เป็นต้นไป ตามคำสั่งที่ 704/2528จำเลยก็ยังคงให้โจทก์ได้รับเงินเพิ่มพิเศษดังกล่าวเนื่องจากโจทก์ยังปฏิบัติงานอยู่ที่บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด ต่อมาเมื่อโจทก์ย้ายไปปฏิบัติงานประจำที่กองวิชาการ จังหวัดระยอง ตามคำสั่งที่ 82/2529 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์2529 ซึ่งระบุไว้โดยแจ้งชัดว่าไม่ได้รับเงินเพิ่มพิเศษ แต่เพื่อประโยชน์ของโจทก์จำเลยก็ได้จ่ายเงินเพิ่มพิเศษในเดือนกุมภาพันธฺ 2529 ให้แก่โจทก์ด้วย ดังนั้นนับแต่เดือนมีนาคม 2529 เป็นต้นไปโจทก์ก็หมดสิทธิที่จะได้รับเงินเพิ่มพิเศษนี้ขกให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่า เมื่อจำเลยรับโอนโจทก์มาเป็นลูกจ้างของจำเลยโดยพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2521 มาตรา 60 ซึ่งกำหนดให้จำเลยได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างรวมทั้งสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ เท่าที่เคยได้รับอยู่เดิม จำเลยจึงให้โจทก์ได้รับเงินเดือน ๆ ละ 9,320 บาท และเงินเพิ่มพิเศษอีกเดือนละ 518 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,838 บาทเงินเพิ่มพิเศษนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง การที่จำเลยไม่จ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้โจทก์จึงเป็นการลดค่าจ้างอันเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณต่อโจทก์โดยโจทก์มิได้ตกลงด้วย จำเลยไม่มีสิทธิกระทำได้ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยรับโอนโจทก์มาเป็นลูกจ้างของจำเลยแล้วประมาณ 1 เดือน จำเลยได้ออกคำชี้แจงเรื่องการรับโอนบุคลากรจากโรงกลั่นน้ำมันทหาร ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2528 จากคำชี้แจงฉบับนี้แสดงให้เป็นเจตนาของจำเลยที่แสดงแก่ลูกจ้างของจำเลยที่รับโอนมาจากหน่วยงานอื่น ซึ่งรวมถึงโจทก์ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นลูกจ้างของโรงกลั่นน้ำมันทหารกรมการพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหมด้วนั้นว่า เมื่อรับโอนมาแล้ว จำเลยจะให้ลูกจ้างได้รับอัตราเงินเดือนในชั้นใกล้เคียงที่ต่ำกว่าแต่ไม่เกินอัตราชั้นสูงสุดของแต่ละตำแหน่งส่วนเงินจำนวนที่ขาดไปนั้นจำเลยจะจ่ายให้เท่าที่เคยได้รับมาก่อนโดยกำหนดให้เรียกว่า “เงินเพิ่มพิเศษ” โดยมีหลักเกณฑ์การจ่ายไว้ว่า จะจ่ายให้เป็นการชั่วคราวในช่วงระยะเวลาเพียง 6 เดือน คือ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2528 ถึงเดือนกันยายน 2528 และโจทก์ได้ทำบันทึกต่อท้ายเอกสารหมาย จ.4 ว่า “ข้าพเจ้ายินดีรับการบรรจุแต่งตั้งและรับอัตราเงินเดือนและเงินเพิ่มพิเศษตามคำชี้แจ้งฉบับนี้”โดยโจทก์ได้ลงลายมือชื่อไว้ซึ่งศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบโดยมิได้โต้แย้งเท่ากับโจทก์ยอมรับว่าโจทก์จะคงได้รับเงินเพิ่มพิเศษเป็นการชั่วคราวตามคำชี้แจง เมื่อฟังว่าโจทก์ได้ตกลงยินยอมขอรับเงินเพิ่มพิเศษเพียง 6 เดือน ตามคำชี้แจงของจำเลยเอกสารหมาย จ.4 นี้แล้ว ความยินยอมของโจทก์จึงเป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันโจทก์จำเลยโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินเพิ่มพิเศษจากจำเลยอีกได้

พิพากษายืน

Share