คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 502/2490

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในเรื่องสัญญานั้นมีบางเรื่องกฎหมายบัญญัติไว้เป็นทำนองแทนการแสดงเจตนาของคู่กรณีในเมื่อไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
กรณีที่คู่สัญญาขอให้ศาลวินิจฉัยว่า การกระทำเป็นการฝ่าฝืนสัญญาหรือไม่นั้น มิใช่เป็นการขอวินิจฉัยข้อสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นเรื่องให้วินิจฉัยข้อสัญญาซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้แทนการแสดงเจตนาด้วย
ข้อสัญญาในเรื่องซ่อมแซมทรัพย์ที่เช่า ย่อมไม่กินความถึงการดัดแปลงต่อเติม
ข้อสัญญาในเรื่องที่ผู้เช่าจะต้องชดใช้ค่าเสียหาย ย่อมไม่เกี่ยวกับสิทธิ์เลิกสัญญา
การดัดแปลงต่อเติมทรัพย์ที่เช่านั้น เมื่อไม่มีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่น ผู้ให้เช่าย่อมไม่มีสิทธิ์บอกเลิกสัญญา
การบอกเลิกสัญญาตาม ม. 386 จะบอกเลิกได้โดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
การบอกเลิกสัญญาเพราะคู่สัญญาฝ่าย 1 ไม่ชำระหนี้ตาม ม. 387 หมายถึงการไม่ชำระหนี้ตามสัญญา ไม่ใช่หมายถึงการชำระค่าเสียหายหรือไม่ปฏิบัติการเป็นอย่างอื่น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขับไล่อ้างว่า จำเลยรื้อบันไดและฝากั้นห้องออกจำเลยต่อสู้ว่าไม่ผิดสัญญา และโจทก์ก็เคยอนุญาตให้ผู้เช่าคนก่อน ๆ ทำเช่นนี้ได้ ทั้งสองฝ่ายขอไม่สืบพะยาน ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า การกระทำเช่นนั้นฝ่าฝืนสัญญาหรือไม่ ในสัญญาเช่ามีว่าผู้เช่าต้องดูแลรักษาทรัพย์ที่เช่าและว่า เมื่อผู้เช่าได้ออกเงินค่าซ่อมแซมก็ดีหรือทำขึ้นใหม่ก็ดี เมื่อทำเสร็จแล้ว ต้องตกเป็นสมบัติของผู้ให้เช่าทั้งสิ้น จะรื้อถอนไม่ได้ และว่าถ้าผู้เช่าทำให้ทรัพย์เสียหาย ผู้เช่ายอมใช้ค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกา, ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความตกลงของคู่ความจะหมายความเพียงว่าขอให้ศาลวินิจฉัยฉะเพาะข้อสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรย่อมไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้คู่สัญญาจะได้แสดงเจตนาตกลงกันในเวลาทำสัญญา ก็มีบางข้อกฎหมายบัญญัติไว้เป็นทำนองสันนิษฐานเจตนาของคู่สัญญาในเมื่อไม่แสดงเจตนาไว้เป็นอย่างอื่น ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องดัดแปลงต่อเติมทรัพย์ที่เช่า จึงไม่เกี่ยวกับข้อสัญญาเรื่องซ่อมแซม ส่วนเรื่องใช้ค่าเสียหายก็ไม่เกี่ยวกับการที่สัญญาจะระงับสิ้นไปหรือเลิกสัญญา เพราะค่าเสียหายอาจมีได้ทั้งในกรณีที่สัญญาระงับแล้วหรือยังไม่ระงับก็ได้ ในเรื่องดัดแปลงต่อเติมนี้เมื่อไม่มีข้อสัญญาไว้ก็ต้องนำ ม. ๕๕๘ มาใช้บังคับและเห็นว่าการกระเช่นนั้นไม่มีกฎหมายบทใดให้สัญญาระงับสิ้นไป และผู้เช่าจะใช้สิทธิ์เลิกสัญญาตาม ม. ๓๘๖ ก็ไม่ได้ ม. ๓๘๖ จะเกิดขึ้นได้โดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ม. ๕๕๘ ไม่ให้สิทธิ์เลิกสัญญา ให้สิทธิ์แต่ฉะเพาะทำให้ทรัพย์คืนสภาพเดิมและชดใช้ค่าเสียหาย และจะว่าเกิดสิทธิ์เลิกสัญญา เพราะผู้เช่าไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดก็ไ่ได้ เพราะการทำให้ทรัพย์คืนสภาพเดิมและการใช้ค่าเสียหาย ไม่ใช่หนี้ที่จะต้องชำระตามสัญญา อนึ่งสิทธิ์เลิกสัญญาเช่าก็มีบัญญัติไว้โดยฉะเพาะใน ม. ๕๕๕ ต่างหากแล้ว จึงพิพากษาว่าโจทก์ก็ไม่มีสิทธิ์เลิกสัญญาให้ยกฟ้องยืนตามศาลอุทธรณ์

Share