คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5008/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามค้ำประกันหนี้ของ ม. และโจทก์เคยฟ้อง ม. และจำเลยทั้งสามกับพวกในเรื่องตัวแทนละเมิดมาแล้ว คดีดังกล่าวศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามในฐานะกรรมการโจทก์สมคบร่วมกันจ่ายเงินโจทก์ซื้อหุ้น เกินไปกว่าราคาที่โจทก์ซื้อรวม 10,814,416.53 บาทจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้คืนโจทก์ ดังนั้น การที่โจทก์นำเอาหนี้จำนวนเดียวกันซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วมาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 144 วรรคหนึ่งอันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยทั้งสามจะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5),246 และ 247 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามตามสัญญาค้ำประกันหนี้ของ ม. อีก ส่วนที่จำเลยทั้งสามค้ำประกันหนี้ของธ. และ ม.นั้น เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ธ.และ ม.เป็นหนี้โจทก์จริง ดังนั้น แม้ว่าจำเลยทั้งสามจะทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของ ธ.และ ม. ลูกหนี้โจทก์เนื่องจากโจทก์ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ต้องการเข้าโครงการ4 เมษายน เพื่อรับสิทธิรับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารแห่งประเทศไทย มิได้มีเจตนาผูกพันตามที่แสดงออกมาก็ตาม ก็ปรากฏว่าขณะทำสัญญาค้ำประกันจำเลยทั้งสามเป็นผู้แทนโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการและจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการซึ่งถือว่าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนนิติบุคคล จึงถือว่าความรู้ของจำเลยทั้งสามเป็นความรู้ของโจทก์ไม่ได้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 74 ส่วนจำเลยที่ 2ก็ไม่ปรากฏว่ามีกรรมการคนอื่นของโจทก์รู้เห็นด้วยเมื่อธ.และม.เป็นหนี้โจทก์จริง และจำเลยทั้งสามได้ทำสัญญาค้ำประกันบุคคลทั้งสองไว้ต่อโจทก์เช่นนี้สัญญาค้ำประกันก็ไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154 จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน25,513,150.68 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน10,800,000 บาท และให้ชำระเงินจำนวน 483,006.86 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ในต้นเงิน 160,000 บาท และชำระเงินจำนวน610,221.39 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ของต้นเงิน250,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เคยเป็นประธานกรรมการของโจทก์จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ และจำเลยที่ 3 เคยเป็นกรรมการของโจทก์ เมื่อปี 2526 ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินเกี่ยวกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และเครดิตฟองซิเอร์ต่าง ๆ รวมทั้งโจทก์ด้วย โดยขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่มีเงินจ่ายคืนแก่ลูกค้าผู้ฝากเงิน กระทรวงการคลังจึงดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าว เรียกว่า “โครงการ 4 เมษายน” โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้าช่วยเหลือพยุงฐานะของโจทก์และเพื่อแก้ไขสภาพคล่องตัวของโจทก์ตามรายละเอียดในคำแถลงการณ์ของกระทรวงการคลังเอกสารหมาย จ.3 จำเลยทั้งสามมีอำนาจกระทำการในนามของโจทก์และในนามของตนเองในฐานะผู้ถือหุ้นได้ยื่นแสดงความจำนงขอความช่วยเหลือและเข้าร่วมโครงการของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยตามหนังสือแสดงความตกลงและยินยอม ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2527 เอกสารหมาย จ.7 ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2527 จำเลยทั้งสามต่างทำสัญญาค้ำประกันลูกหนี้ของโจทก์รวม 7 ราย คือ นายมนัส แผ่นทอง จำนวนเงิน 10,800,000 บาท นายธีระ เริงปริติ จำนวนเงิน 160,000 บาท และนายมงคล วศิ่นวัฒนพงษ์ จำนวนเงิน 250,000 บาทกับลูกหนี้คนอื่น ๆ โดยจำเลยทั้งสามยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 สำหรับหนี้ของนายมนัสเป็นหนี้ประเภทเงินกู้โดยจำเลยทั้งสามให้นายมนัส เข้ารับเป็นลูกหนี้ในจำนวนเงินที่จ่ายไปในการซื้อหุ้นของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สูงกว่าความเป็นจริง และให้นายมนัสออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 10,800,000 บาท มีนายยุทธ เจริญศรีเป็นผู้อาวัล โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามกับพวก เรื่องตัวแทนละเมิดให้ร่วมกันใช้เงินจำนวนดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย ล.1 และ ล.31ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ยื่นเพื่อประกอบคดี ศาลฎีกายังคงพิพากษาให้ยกฟ้องนายมนัสจำเลยที่ 6 และนายยุทธ จำเลยที่ 7 ส่วนนายธีระแลนายมงคลเป็นหนี้ตามสัญญาขายลดเช็ค แต่เช็คของบุคคลทั้งสองไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ โจทก์จึงฟ้องนายธีระและนายมงคลต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายธีระและนายมงคลชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.18แต่โจทก์ไม่สามารถบังคับคดีชำระหนี้เอาจากนายธีระและนายยุทธได้
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 มีผลใช้บังคับได้หรือไม่สำหรับกรณีที่จำเลยทั้งสามค้ำประกันหนี้ของนายมนัส แผ่นทอง นั้นเห็นว่า โจทก์เคยฟ้องนายมนัสและจำเลยทั้งสามกับพวก ในเรื่องตัวแทนละเมิด มาแล้ว ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 5306/2538 ซึ่งคดีดังกล่าวศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามในฐานะกรรมการโจทก์สมคบร่วมกันนายเงิน โจทก์ซื้อหุ้นเกินไปกว่าราคาที่โจทก์ซื้อรวม 10,814,416.53บาท (ต้นเงิน 10,800,000 บาท) จึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้คืนโจทก์ดังนั้น การที่โจทก์นำเอาหนี้จำนวนเดียวกันซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว มาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 วรรคหนึ่ง อันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสามจะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5), 246 และ 247โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามตามสัญญาค้ำประกันหนี้ของนายมนัสอีก
ส่วนกรณีที่จำเลยทั้งสามค้ำประกันหนี้ของนายธีระ เริงปริติและนายมงคล วศินวัฒนพงษ์ เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่านายธีระและนายมงคลเป็นหนี้โจทก์จริงตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.15 และ จ.17 ดังนั้นแม้ว่าจำเลยทั้งสามจะทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของนายธีระและนายมงคลลูกหนี้โจทก์เนื่องจากโจทก์ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ต้องการเข้าโครงการ 4 เมษายน เพื่อรับสิทธิรับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารแห่งประเทศไทยมิได้มีเจตนาผูกพันตามที่แสดงออกมาก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้การแสดงเจตนาตกเป็นโมฆะเว้นแต่โจทก์จะได้รู้เจตนาอันซ่อนเร้นอยู่ในใจของจำเลยทั้งสามตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154 ซึ่งปรากฏว่าขณะทำสัญญาค้ำประกันจำเลยทั้งสามเป็นผู้แทนโจทก์ โดยจำเลยที่ 1เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการและจำเลยที่ 3เป็นกรรมการ ซึ่งถือว่าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนนิติบุคคล จึงถือว่าความรู้ของจำเลยทั้งสามเป็นความรู้ของโจทก์ไม่ได้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 74 ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า กรรมการคนอื่นของโจทก์รู้เห็นด้วยนั้น ก็มีเพียงตัวจำเลยที่ 2 เบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ และไม่มีรายละเอียดชัดแจ้ง จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายธีระและนายมงคลเป็นหนี้โจทก์จริง และจำเลยทั้งสามได้ทำสัญญาค้ำประกันบุคคลทั้งสองไว้ต่อโจทก์เช่นนี้จำเลยทั้งสามก็ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ที่นายธีระเริงปริติ เป็นหนี้โจทก์จำนวน 483,006.86 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ของต้นเงิน 160,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ที่นายมงคล วศินวัฒนพงษ์ เป็นหนี้โจทก์จำนวน 610,221.39 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปีของต้นเงิน 250,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share