คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5006/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความในพินัยกรรมข้อ 1 ระบุว่า แม้ พ.และ ล.จะได้แสดงเจตนายกทรัพย์สินของตนที่มีอยู่ขณะทำพินัยกรรม หรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหมดแต่ผู้เดียว แต่พินัยกรรมข้อ 2 ระบุว่า “แต่พินัยกรรมนี้ให้เงื่อนไขดังนี้” การยกทรัพย์สินให้โจทก์ตามพินัยกรรมข้อ 1 จึงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมข้อ 2 ด้วย ทั้งพินัยกรรมข้อ 2 ข.ระบุว่า หาก พ.ตายก่อน ล. ให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนี้ทั้งหมด แสดงให้เห็นเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมที่ประสงค์ให้พินัยกรรม ข้อ 2 เป็นเนื้อหาของพินัยกรรมด้วย มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องระบุอีกเพราะมีข้อกำหนดให้ทรัพย์มรดกตกเป็นของโจทก์ตามพินัยกรรมข้อ 1 อยู่แล้ว และพินัยกรรมข้อ 2 ข. ระบุให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมทั้งหมดจึงไม่มีทรัพย์ตามพินัยกรรมที่จะตกทอดแก่โจทก์ในกรณีที่ ล.ถึงแก่ความตายภายหลังอีก พินัยกรรมดังกล่าวจึงมีเนื้อหาและผลบังคับตามข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ 2 เท่านั้น หาใช่ข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ 1 มีผลบังคับเป็นหลักไม่
เมื่อบุตรของโจทก์ที่โจทก์อุ้มท้องอยู่ในขณะที่มีการทำพินัยกรรมได้แท้งก่อนที่จะคลอดออกมา และ ล.ผู้ทำพินัยกรรมร่วมกับ พ.ได้ถึงแก่ความตายก่อน พ.ข้อกำหนดพินัยกรรม ข้อ 2 ค.ที่ระบุให้ ล.ยกทรัพย์ให้บุตรโจทก์ที่โจทก์อุ้มท้องอยู่ถ้าได้คลอดออกมามีชีวิตอยู่ จึงเป็นอันตกไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1698(2) เพราะเงื่อนไขนั้นไม่อาจสำเร็จได้ เมื่อ ล.ตายก่อน พ.พินัยกรรมจึงมีผลบังคับตามข้อ 2 ก. ที่ระบุให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งแบ่งให้ พ. ข้อกำหนดพินัยกรรมที่เหลือในข้อ 2 ข. ที่ พ.แสดงเจตนาไว้ว่าถ้า พ.ตายก่อน ล.ให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมทั้งหมด จึงตกไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 1698 (2) โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิในฐานะผู้รับทรัพย์มรดกของ พ.ตามพินัยกรรมมาฟ้องจำเลยมิให้เกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกของ พ.ได้

Share