คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5005/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่1เป็นตัวแทนเรือต่างประเทศเป็นผู้ติดต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อนำเรือดังกล่าวเข้าเทียบท่าเรือที่เกาะสีชังเมื่อเรือดังกล่าวเดินทางถึงจำเลยที่1เป็นผู้แจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าทราบและติดต่อว่าจ้างจำเลยที่2ให้นำเรือลำเลียง2ลำไปขนถ่ายสินค้าจากเรือต่างประเทศโดยมีเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1ไปดูแลเมื่อเรือลำเลียงถึงท่าเรือกรุงเทพจำเลยที่1ต้องจ้างคนงานพร้อมด้วยอุปกรณ์ในการขนส่งสินค้าไปเก็บที่โกดังของการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้วออกใบปล่อยสินค้าเพื่อให้โจทก์หรือตัวแทนไปรับสินค้าพฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการขนส่งสินค้าของผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา618แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2533 โจทก์ได้สั่งซื้อสินค้าฝ่ายดิบจำนวน 737 มัด ราคา 5,559,412.34 บาท จากผู้ขายในประเทศบราซิล ผู้ขายได้ว่าจ้างบริษัทซีเฮฟเว่น แมนเนจเม้นท์คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ขนส่งสินค้าฝ้ายดิบดังกล่าวมายังประเทศไทยโดยเรือเดินทะเลชื่อโทปาช เมื่อเรือลำดังกล่าวเดินทางมาถึงประเทศไทยโดยเทียบท่าที่เกาะสีชังเมื่อวันที่21 พฤศจิกายน 2533 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าทางทะเลกับบริษัทดังกล่าวได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าจากเกาะสีชังไปยังคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 2 ใช้เรือลำเลียง 2 ลำ รับสินค้าจากเรือโทปาชขนส่งไปยังคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าสินค้าฝ่ายดิบสูญหายไปจำนวน 117 มัด คิดเป็นเงิน 837,131.57 บาทจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้ร่วมขนส่งและจำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 52,320.72 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงิน 889,452.30 บาท (ที่ถูกคือ 889,452.29 บาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 837,131.57 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ร่วมขนส่งกับบริษัทผู้รับขนส่งในต่างประเทศ จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้รับจ้างทำของโดยเป็นตัวแทนของบริษัทผู้รับขนส่งในต่างประเทศและได้รับค่าตอบแทนจากเจ้าของเรือเป็นค่าบำเหน็จตัวแทน เจ้าของเรือโทปาชได้ติดต่อให้จำเลยที่ 1 จัดหาเรือลำเลียงเพื่อขนถ่ายสินค้าจากเรือโทปาชที่เกาะสีชังไปเก็บที่คลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 จึงติดต่อให้จำเลยที่ 2 นำเรือลำเลียงไปขนถ่ายสินค้าจากเรือโทปาช ได้มีการตรวจนับสินค้าฝ่ายดิบจำนวน 777 มัดลงเรือลำเลียงนำไปส่งมอบที่โกดังสินค้าของการเรือแห่งประเทศไทย ฝ้ายดิบดังกล่าวมิได้สูญหายในระหว่างการขนส่งโดยเรือโทปาช จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ สินค้าฝ้ายดิบที่สูญหายจำนวน 117 มัด มีราคาไม่เกิน400,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3ได้ขนส่งสินค้าฝ้ายดิบจากเรือโทปาชที่เกาะสีชังโดยเรือลำเลียง2 ลำ การขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือลำเลียงไปเก็บที่คลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นคนของจำเลยที่ 1 และของโจทก์มีคนของโจทก์เป็นผู้ตรวจนับสินค้าและพนักงานของจำเลยที่ 1ลงชื่อรับสินค้า ไม่มีสินค้าตกค้างอยู่ในเรือลำเลียงของจำเลยที่ 2และที่ 3 ทั้งสองลำ สินค้าฝ้ายดิบหายไปจากคลังสินค้าไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์837,131.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย ทั้ง สาม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อแรกว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนผู้ขนส่งหรือตัวแทนเรือ ไม่ใช่ผู้ร่วมทำการขนส่งหลายคนหลายทอด ปรากฏว่าข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยจำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1เป็นตัวแทนเรือโทปาช เป็นผู้ติดต่อกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อนำเรือดังกล่าวเข้าเทียบท่าเรือที่เกาะสีชัง เมื่อเรือโทปาชเดินทางถึงเกาะสีชังจำเลยที่ 1 เป็นผู้แจ้งให้โจทก์ทราบและเป็นผู้ออกใบปล่อยสินค้าเพื่อให้โจทก์หรือตัวแทนไปรับสินค้า นายวิวัฒน์ สำเร็จประสงค์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 1 ตอบทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า เมื่อลำเลียงถึงท่าเรือกรุงเทพแล้ว จำเลยที่ 1ต้องว่าจ้างคนงานพร้อมด้วยอุปกรณ์ในการขนส่งสินค้าไปเก็บที่โกดังของการท่าเรือแห่งประเทศไทยในการนำขึ้นจะต้องมีหลักฐานทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายของจำเลยที่ 1 กับของการท่าเรือแห่งประเทศไทยและเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ในการขนส่งสินค้าลงจากเรือใหญ่ จำเลยที่ 1 จะส่งเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ไปดูแลด้วย เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ติดต่อกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อนำเรือเข้าเทียบท่าก็ดีการที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบและเป็นผู้ออกใบปล่อยสินค้าเพื่อให้โจทก์ไปรับสินค้าก็ดีการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างคนงานพร้อมด้วยอุปกรณ์ในการขนสินค้าไปเก็บที่โกดังของการท่าเรือแห่งประเทศไทยก็ดีและในการขนส่งสินค้าลงจากเรือใหญ่ จำเลยที่ 1 ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลก็ดี พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการขนส่งสินค้าของผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618แล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า สินค้าสูญหายไประหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษายืน

Share