คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4997/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 พารองประธานกรรมการจำเลยที่ 1 นั่งรถไปด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 2 ขับรถไปตามคำสั่งของผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ถือว่าทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้จะเป็นวันหยุดไม่ใช่วันทำงานปกติของจำเลยที่ 2 ก็เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จะอ้างว่า เกิดเหตุละเมิดนอกเวลาทำการงานของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดหาได้ไม่เพราะเป็นเรื่องภายในระหว่างพนักงานของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 692,769 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 645,300 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 210,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ยกฟ้องจำเลยร่วมค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2540 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา ขณะที่นายพิทักษ์ ติเล ลูกจ้างโจทก์ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อหมายเลขทะเบียน 90 – 3439 กรุงเทพมหานคร บรรทุกหนังสือพิมพ์เพื่อไปส่งยังจังหวัดต่าง ๆ จากกรุงเทพมหานครถึงที่เกิดเหตุอำเภอสวี จังหวัดชุมพร มีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์เก๋ง ยี่ห้อโตโยต้า ไม่มีหมายเลขทะเบียนของจำเลยที่ 1 แล่นสวนทางมาแล้วเกิดเฉี่ยวชนกัน มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่เป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างและขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์ที่ลูกจ้างโจทก์ขับได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งเพียงพอให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ ส่วนที่ไม่ได้ระบุว่าลูกจ้างโจทก์เป็นใคร มิใช่ข้อสาระสำคัญและเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่าเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 2 หรือไม่ สำหรับจำเลยที่ 2 มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1226/2541 ของศาลจังหวัดหลังสวน ซึ่งถึงที่สุดแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามเอกสารหมาย จ. 6 ดังนั้น การพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ขับรถประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์ที่ลูกจ้างโจทก์ขับได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จะอ้างว่ามิได้ให้การรับสารภาพในคดีอาญาด้วยความสมัครใจหาได้ไม่ ส่วนจำเลยที่ 1 แม้คำพิพากษาคดีอาญาไม่มีผลผูกพัน แต่โจทก์ก็มีนายพิทักษ์ลูกจ้างโจทก์ที่ขับรถคันเกิดเหตุเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์แซงรถคันอื่นล้ำเข้ามาในช่องเดินรถที่พยานขับมา พยานหักรถหลบไปทางซ้ายแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ยังคงขับล้ำ เข้ามาจนเฉี่ยวชนกัน ส่วนจำเลยทั้งสองมีเพียงนายอดิศักดิ์ ลิ้มสกายุรัตน์ กรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 1 เบิกความลอย ๆ ว่า รถยนต์ที่ลูกจ้างโจทก์ขับแล่นส่วนมาด้วยความเร็วสูงแซงรถคันหน้า เป็นเหตุให้ชนรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งนายอดิศักดิ์ไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ คงได้รับฟังคำบอกเล่ามาจากจำเลยที่ 2 เท่านั้น พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ฟังได้ว่าเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียว ข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าวันเกิดเหตุเป็นวันอาทิตย์เป็นวันหยุดงานของจำเลยที่ 2 แม้จะมีนางกาญจนา ลิ้มสกายุรัตน์ รองประธานกรรมการจำเลยที่ 1 นั่งไปด้วย ก็มิได้หมายความว่าเป็นการทำงานในทางการที่จ้างนั้น เห็นว่า เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 วันเกิดเหตุขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 พารองประธานกรรมการจำเลยที่ 1 ไปด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 2 ขับรถไปตามคำสั่งของผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ถือว่าทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้จะเป็นวันหยุดไม่ใช่วันทำงานปกติของจำเลยที่ 2 ก็เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จะอ้างว่า เกิดเหตุนอกเวลาทำการงานของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดหาได้ไม่ เพราะเป็นเรื่องภายในระหว่างพนักงานของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เพียงใด โจทก์นำสืบว่าเมื่อเกิดเหตุแล้วรถยนต์บรรทุกหกล้อไม่สามารถใช้งานได้ต้องนำไปซ่อมเป็นเวลา 173 วัน ตามใบรับรถเอกสารหมาย จ. 7 ทำให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้และหนังสือพิมพ์ที่บรรทุกมาส่งไม่ทันตามกำหนดทำให้ขายไม่ได้ เนื่องจากมีหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ออกมาภายหลังวางจำหน่ายแล้ว และเอเย่นต์ส่งหนังสือพิมพ์ดังกล่าวคืน ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบในข้อนี้ จึงฟังได้ว่าโจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้รถเป็นเวลา 173 วัน และเสียหายจากการส่งหนังสือพิมพ์ไม่ทันตามกำหนดการวางจำหน่ายจริง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์จากการใช้รถวันละ 1,000 บาท เป็นเงิน 173,000 บาท และค่าเสียหายจากการส่งหนังสือพิมพ์ไปจำหน่ายไม่ทันตามกำหนดเป็นเงิน 37,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว การที่โจทก์นำรถยนต์ไปซ่อมในเดือนกุมภาพันธ์ 2540 หลังจากเกิดเหตุไม่ถึง 1 เดือนจึงไม่ล่าช้าเกินไป และการที่ส่งหนังสือพิมพ์ไปถึงล่าช้ากว่ากำหนดและถูกส่งคืนย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าหากมีการส่งหนังสือพิมพ์คืนก็เพียงบางส่วนไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ นั้น เป็นการคาดคะเนของจำเลยทั้งสองเท่านั้น จึงฟังไม่ขึ้น มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองประการต่อไปว่า จำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามกรมธรรม์เอกสารหมาย ล. 3 ข้อ 2.3 ระบุว่าจำเลยร่วมจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกเนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถยนต์ในระหว่างระยะเวลาประกันภัยดังนี้ ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถและค่าเสียหายจากหนังสือพิมพ์ของโจทก์ที่ส่งล่าช้าเป็นเหตุให้ขาดรายได้จากการจำหน่ายไม่ได้ ย่อมเป็นความเสียหายต่อทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก อันเกิดจากการกระทำละเมิดโดยตรงที่จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อโจทก์และค่าเสียหายไม่เกิน 1,000,000 บาท ตามตารางกรมธรรม์ จำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสองต่อโจทก์ด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น มีปัญหาประการสุดท้ายตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์สูงเกินไปนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์กำหนดทุนทรัพย์ตามฟ้องจำนวน 692,769 บาท แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพียง 210,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เต็มตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องจึงสูงเกินไป ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่ชนะคดี ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสองต่อโจทก์ด้วยและให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share