คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4991/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายย่อมทำให้จำเลยที่ 2 กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนรวมทั้งสามารถต่อสู้คดีได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีแพ่งภายหลังที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ แม้ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลาย เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ตามพ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 25 เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายจำเลยที่ 2 ย่อมขาดจากตำแหน่งกรรมการของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1154 จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนอีกต่อไป เมื่ออำนาจจัดการทรัพย์สินจำเลยที่ 1 ของจำเลยที่ 2 หมดไปแล้ว จึงมิอาจเปลี่ยนมือไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการอยู่ด้วย จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจ้างนายอิทธิพร อิทธิอนันต์ สร้างอาคารพาณิชย์ ขนาดสูง 2 ชั้น 8 คูหา กำหนดแล้วเสร็จใน 150 วัน คิดค่าจ้างเป็นเงิน 1,120,000 บาท แบ่งจ่ายค่าจ้างเป็น 6 งวด ตามการก่อสร้างที่แล้วเสร็จเป็นขั้นตอน นายอิทธิพร ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จถึงงานงวดที่ 4 ก็ทิ้งงานไป จำเลยที่ 2 ทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้ตกลงว่าจ้างโจทก์ทำการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวในงวดที่ 5 และงวดที่ 6 ต่อโดยให้โจทก์หาวัสดุในการก่อสร้าง และจ้างแรงงานเอง หลังจากโจทก์ทำการก่อสร้างงานงวดที่ 5 เสร็จเรียบร้อยและส่งมอบแก่จำเลยทั้งสอง ขณะที่โจทก์กำลังดำเนินการก่อสร้างในงวดสุดท้ายนี้ จำเลยที่ 2 แจ้งแก่โจทก์ว่าจำเลยที่ 2 จะนำเช็คซึ่งนายอิทธิพรสั่งจ่ายให้แก่บุคคลภายนอกไว้เป็นเงิน 140,000 บาท มาหักเงินค่าจ้างงวดที่ 5 และงวดที่ 6 จากโจทก์ โจทก์ไม่ยินยอม จำเลยที่ 2 ก็ยืนยันจะหักเงินดังกล่าวให้ได้โจทก์จำเลยตกลงกันไม่ได้ โจทก์จึงได้บอกเลิกสัญญา และขอเบิกเงินค่าก่อสร้างในงวดที่ 5 เป็นเงิน 170,000 บาท จำเลยทั้งสองปฏิเสธโจทก์ได้ติดต่อทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสองก็เพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 170,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยว่าจ้างโจทก์ทำการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ หรือให้โจทก์จัดหาวัสดุในการก่อสร้างให้แก่จำเลยทั้งสอง หลังจากนายอิทธิพร อิทธิอนันต์ ไม่อาจก่อสร้างตึกแถวให้เสร็จทันตามกำหนดเวลาในสัญญาได้ และยุติการก่อสร้างทิ้งงานทั้งหมดแล้วหลบหนีไป จำเลยที่ 2 ได้เข้าดำเนินการก่อสร้างเอง จนแล้วเสร็จ โดยที่โจทก์มิได้เข้าเกี่ยวข้อง จำเลยทั้งสองขดตัดฟ้องว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องเคลือบคลุมและขาดอายุความแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้เงิน170,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้ ศาลชั้นต้นไต่สวนว่าศาลแพ่งได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาด และมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้วหรือไม่ ตั้งแต่เมื่อใดศาลชั้นต้นได้ทำการไต่สวนแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่12 พฤษภาคม 2524 ศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2เด็ดขาด ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัยพ์ได้ประกาศลงวันที่ 24มกราคม 2526 ว่าศาลแพ่งได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ก่อนล้มละลายของจำเลยที่ 2 ครั้นวันที่ 7 พฤษภาคม 2527 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เนื่องจากศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดและมีคำพิพากษาให้ล้มละลาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาไม่ชอบ เพราะโจทก์ชอบที่จะไปขอรับชำระหนี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น เห็นว่า การที่ศาลแพ่งมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายย่อมทำให้จำเลยที่ 2กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตน รวมทั้งสามารถต่อสู้คดีได้เอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2527 ภายหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2แม้ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ตามบทบัญญัติแพ่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 25 เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอเข้าว่าคดีหรือมีคำขอให้จำหน่ายคดี ศาลย่อมมีอำนาจให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ต่อไป ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้วอำนาจจัดการทรัพย์สินเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงเปลี่ยนมือไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ต่อมาย่อมไม่ชอบนั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้ว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้นศาลฎีกาก็รับวินิจฉัยให้ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ตกเป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยที่ 2 ย่อมขาดจากตำแหน่งกรรมการของจำเลยที่ 1ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1154 จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนอีกต่อไป เมื่ออำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ของจำเลยที่ 2 หมดไปแล้ว จึงมิอาจเปลี่ยนมือไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้…”
พิพากษายืน.

Share