แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินที่ล. เจ้ามรดกทำไว้กับโจทก์ทั้งห้าก่อนที่ล. จะถึงแก่ความตายเป็นสัญญาจะซื้อจะขายมีเพียงบุคคลสิทธิโจทก์ทั้งห้ายังไม่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนที่จะมีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่1ที่2กับจำเลยที่3ก็ตามแต่ตามฟ้องของโจทก์ก็ได้อ้างถึงสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นที่โจทก์ทั้งห้าได้ฟ้องกองมรดกของล. โดยทายาทผู้รับมรดกและจ.ผู้จัดการมรดกคนเดิมของล. ให้โอนที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายให้โจทก์ทั้งห้าแม้ต่อมาจ. ถูกศาลชั้นต้นเพิกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งให้จำเลยที่1และที่2เป็นผู้จัดการมรดกคนใหม่แทนคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวก็ยังมีผลผูกพันถึงจำเลยที่1ที่2และจำเลยที่3ผู้ได้รับที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมของล.เพราะจ. ผู้จัดการมรดกคนเดิมกระทำไปในฐานะผู้จัดการมรดกของล. จำเลยที่1และที่2ผู้จัดการมรดกคนใหม่จึงต้องมีหน้าที่เช่นเดียวกับจ. ที่จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกของล. ให้แก่ทายาทหรือมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ที่เจ้ามรดกได้ก่อไว้ก่อนตายด้วยส่วนจำเลยที่3ผู้รับโอนที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมของล. เป็นผู้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมจึงต้องรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่ความรับผิดที่เกี่ยวกับที่ดินที่รับโอนมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1600,1601และ1651(2)จำเลยทั้งสามจึงมีหน้าที่ต้องจัดการโอนที่ดินพิพาทตามที่ล.เจ้ามรดกทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ทั้งห้าและศาลได้พิพากษาให้โอนตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แม้โจทก์จะมิได้ขอให้จำเลยที่3ร่วมกับจำเลยที่1และที่2จัดการโอนที่ดินพิพาทด้วยแต่เจตนาการฟ้องของโจทก์ทั้งห้าก็เพื่อต้องการให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของล. โอนที่ดินพิพาทเมื่อจำเลยที่3รับโอนที่ดินพิพาทมาตามพินัยกรรมแล้วจึงมีหน้าที่ต้องจัดการโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งห้าศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่3ร่วมกับจำเลยที่1และที่2โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งห้าได้แม้จำเลยที่3จะเป็นวัดเพราะเป็นการพิพากษาให้จำเลยที่3ปฏิบัติการชำระหนี้ของเจ้ามรดกที่ก่อไว้ก่อนตายมิใช่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่วัดที่ธรณีสงฆ์หรือศาสนสมบัติกลางอันจะต้องกระทำโดยพระราชบัญญัติตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ.2505มาตรา34
ย่อยาว
คดีทั้งสี่สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2โจทก์ในสำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 3 โจทก์ในสำนวนที่สามว่าโจทก์ที่ 4 โจทก์ในสำนวนที่สี่ว่า โจทก์ที่ 5 และจำเลยทั้งสี่สำนวนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องใจความทำนองเดียวกันว่า เดิมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 254 และ 3591 เป็นของนายลับ กลางเถื่อน ผู้ตายก่อนตายนายลับทำสัญญาแบ่งขายที่ดินโฉนดเลขที่ 254 ให้โจทก์ที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ในแปลงที่แบ่งแยกเลขที่ 266 และ 267 กับ 264และ 265 ตามลำดับ และทำสัญญาแบ่งขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3591เฉพาะส่วนซึ่งภายหลังแบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 257 ให้โจทก์ที่ 4กับเฉพาะส่วนซึ่งภายหลังแบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 272 และ 274ให้โจทก์ที่ 5 ในขณะเดียวกันนายลับได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินดังกล่าวนี้ให้จำเลยที่ 3 หลังจากนายลับถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ทั้งห้าต่างเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกองมรดกของนายลับโดยนางละเอียด บัวกลับ นายประจิม เพชรากุล ผู้รับมรดกและนายจันทร์ รักษาจันทร์ ผู้จัดการมรดกให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาซื้อขาย ศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยในคดีดังกล่าวจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งห้า แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากที่ดินตกเป็นของจำเลยที่ 3ตามพินัยกรรม เนื่องจากจำเลยที่ 3 เป็นวัด ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นที่ธรณีสงฆ์ไม่อาจจดทะเบียนโอนได้ ต่อมาศาลมีคำสั่งถอนนายจันทร์ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกของนายลับแทน โจทก์ทั้งห้าบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งห้า แต่จำเลยที่ 1และที่ 2 เพิกเฉยจนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2536 จำเลยที่ 1และที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 การที่นายลับทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งห้าไว้ก่อนตายเป็นการทำนิติกรรมจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของตนด้วยความตั้งใจข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทจึงเพิกถอนไป ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกที่จะตกทอดไปยังจำเลยที่ 3 โจทก์ทั้งห้าได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินส่วนที่ตนทำสัญญาซื้อขายกับนายลับ โดยสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว และได้ยื่นฟ้องกองมรดกของนายลับจนได้ที่ดินมาโดยผลของสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำในศาลโจทก์ทั้งห้าจึงเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินให้จำเลยที่ 3 โดยไม่มีค่าตอบแทนเป็นทางให้โจทก์ทั้งห้าเสียเปรียบขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 254, 257, 272 และ 274 ตำบลสว่างอารมณ์ อำเภอสว่างอารมณ์จังหวัดอุทัยธานี ระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายลับยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 254 ให้เป็นไปตามรูปแผนที่ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินทำขึ้นตามคำขอของนายลับขณะมีชีวิตอยู่เมื่อรังวัดแบ่งแยกโฉนดแล้วให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินส่วนที่แบ่งแยกแปลงเลขที่ 266 เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน26 ตารางวา และแปลงที่แบ่งแยกเลขที่ 267 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน62 ตารางวา ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 แปลงที่แบ่งแยกเลขที่ 264เนื้อที่ 1 ไร่ และแปลงที่แบ่งแยกเลขที่ 265 เนื้อที่ 1 ไร่76 ตารางวา ให้โจทก์ที่ 3 และโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 257 เนื้อที่1 งาน 56 ตารางวา ให้โจทก์ที่ 4 โฉนดเลขที่ 272 และ 274 เนื้อที่แปลงละ 60 ตารางวา ให้โจทก์ที่ 5 หากจำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยทั้งสามให้การทั้งสี่สำนวนและแก้ไขคำให้การในสำนวนที่สองใจความทำนองเดียวกันว่า สัญญาที่โจทก์ทั้งห้าทำกับนายลับเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทยังคงเป็นของนายลับอยู่ โจทก์ทั้งห้าจึงไม่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อน ฟ้องโจทก์ทั้งห้าขาดอายุความ เพราะไม่ฟ้องภายใน 10 ปี นับแต่นายจันทร์ผู้จัดการมรดกคนเดิมจดทะเบียนใส่ชื่อของตนไว้ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายลับและไม่ฟ้องภายใน 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลอีกทั้งไม่ฟ้องเพิกถอนการโอนอันเป็นการฉ้อฉลภายใน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียนโอนมรดกระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3จำเลยที่ 3 รับโอนมรดกของนายลับโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 กับผู้จัดการมรดกของนายลับไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 เพราะผู้จัดการมรดกไม่มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่ดินให้บุคคลอื่นโจทก์ทั้งห้าไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามที่กล่าวอ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างพิจารณา คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับข้อเท็จจริงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน2516 นายลับ กลางเถื่อน เจ้ามรดก ได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดเลขที่ 254, 257, 272 และ 274 ให้แก่จำเลยที่ 3 ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารหมาย จล.1 โดยก่อนทำพินัยกรรมเจ้ามรดกได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 254 (บางส่วน) ไว้กับโจทก์ที่ 3 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 257 ไว้กับโจทก์ที่ 4และทำสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 272 และ 274 ไว้กับโจทก์ที่ 5และหลังจากทำพินัยกรรมแล้วเจ้ามรดกได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 254 (บางส่วน) ไว้กับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2516 โจทก์ทั้งห้าต่างได้ยื่นฟ้องทายาทและผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก ศาลได้มีคำพิพากษาความยอมเมื่อปี 2517 รายละเอียดตามสำเนาคำพิพากษาความยอมท้ายฟ้องแต่ละสำนวน ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม 2524 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดก (คนเดิม) และตั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกแทนตามสำเนาคำสั่งเอกสารหมาย จล.2 ต่อมาวันที่14 ธันวาคม 2536 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้ จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 254 เฉพาะส่วนตามพินัยกรรมและที่ดินโฉนดเลขที่ 257, 272 และ 274 ให้แก่จำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่สำนวน
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความแถลงรับกันตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 19 มิถุนายน 2538ดังกล่าว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าว่าโจทก์ทั้งห้ามีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 254, 257, 272, 274 ระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2กับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 ที่ 2 จะต้องจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งห้าหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินที่นายลับ กลางเถื่อน เจ้ามรดกทำไว้กับโจทก์ทั้งห้าก่อนที่นายลับจะถึงแก่ความตายเป็นสัญญาจะซื้อจะขายมีเพียงบุคคลสิทธิโจทก์ทั้งห้ายังไม่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนที่จะมีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่ตามฟ้องของโจทก์ทั้งห้าก็ได้อ้างถึงสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นซึ่งเดิมโจทก์ทั้งห้าได้ฟ้องกองมรดกของนายลับ โดยทายาทผู้รับมรดกและนายรินทร์ (ที่ถูกน่าจะเป็นนายจันทร์) รักษาจันทร์ผู้จัดการมรดกคนเดิมของนายลับให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวและทายาทผู้รับมรดกและผู้จัดการมรดกของนายลับได้ยินยอมโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งห้า และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้ว แม้ต่อมาผู้จัดการมรดกคนเดิมที่ตกลงยินยอมโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งห้าจะถูกศาลชั้นต้นเพิกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกคนใหม่แทนคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวก็ยังมีผลผูกพันถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2ผู้จัดการมรดกคนใหม่ และจำเลยที่ 3 ผู้ได้รับที่ดินพิพาทตามพินัยกรรม เพราะนายจันทร์ผู้จัดการมรดกคนเดิมกระทำไปในฐานะผู้จัดการมรดกของนายลับ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้จัดการมรดกคนใหม่ก็มีหน้าที่เช่นเดียวกับนายจันทร์ที่จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายลับให้แก่ทายาทหรือมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ที่เจ้ามรดกได้ก่อไว้ก่อนตายด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 ผู้ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาตามพินัยกรรมของนายลับก็เป็นผู้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรม เมื่อจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทของเจ้ามรดกมาจำเลยที่ 3 ก็ต้องรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่ความรับผิดที่เกี่ยวกับที่ดินที่รับโอนมานั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600, 1601 และ 1651(2) จำเลยทั้งสามจึงมีหน้าที่ต้องจัดการโอนที่ดินพิพาทตามที่นายลับเจ้ามรดกทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้กับโจทก์ทั้งห้าและศาลได้พิพากษาให้โอนตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์จะมิได้ขอให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1และที่ 2 จัดการโอนที่ดินพิพาทด้วย แต่เจตนาการฟ้องของโจทก์ทั้งห้าก็เพื่อต้องการให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของนายลับโอนที่ดินพิพาทเมื่อจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาท จึงมีหน้าที่ต้องจัดการโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งห้าตามกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งห้าได้และแม้จำเลยที่ 3 จะเป็นวัด การที่ศาลให้จำเลยที่ 3โอนที่ดินพิพาทซึ่งตกมาเป็นของจำเลยที่ 3 โดยพินัยกรรมดังกล่าวเป็นการพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ปฏิบัติการชำระหนี้ของเจ้ามรดกที่ก่อไว้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย มิใช่การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัดที่ธรณีสงฆ์หรือศาสนสมบัติกลางอันจะต้องกระทำโดยพระราชบัญญัติตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34แต่เนื่องจากคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยโดยที่ยังมีข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การที่จะต้องวินิจฉัยอยู่อีกและข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยนี้อาจเป็นผลให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเปลี่ยนแปลงไปสมควรที่ศาลจะต้องฟังข้อเท็จจริงจากการนำสืบของคู่ความให้สิ้นกระแสความเสียก่อนศาลฎีกาเห็นสมควรยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยในประเด็นที่ยังมิได้วินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(3)(ข) และมาตรา 247”
พิพากษายก คำพิพากษา ศาลชั้นต้น ให้ ศาลชั้นต้น ดำเนิน กระบวนพิจารณา ต่อไป แล้ว มี คำพิพากษา ไป ตาม รูป ความ