คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4974/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ซึ่งกำหนดให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาได้นั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดจำกัดไว้ว่าอนุญาตได้เฉพาะปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมาย ดังนั้น ผู้พิพากษาดังกล่าวจึงมีอำนาจที่จะอนุญาตให้ฎีกาได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ไม่ได้กำหนดให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ดังนั้นผู้พิพากษาดังกล่าวจึงมีอำนาจที่จะอนุญาตให้ฎีกาได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย สำหรับคดีนี้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อปี 2531 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 1,300,000 บาท โดยไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมกันไว้แต่จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 7 ฉบับ มอบให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยได้ออกเช็คจำนวน 44 ฉบับ มอบให้แก่โจทก์เพื่อผ่อนชำระหนี้กู้ยืมและโจทก์ได้คืนเช็ค 7 ฉบับ ดังกล่าวให้จำเลย เช็คตามฟ้องทั้งสามฉบับเป็นส่วนหนึ่งของเช็คจำนวน 44 ฉบับ ที่จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อเช็คตามฟ้องถึงกำหนดโจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า เงินในบัญชีไม่พอจ่าย
แล้ววินิจฉัยต่อไปว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษ” ดังนั้นการออกเช็คที่จะมีมูลความผิด พระราชบัญญัติดังกล่าวจะต้องปรากฏในเบื้องแรกว่ามีหนี้ที่จะต้องชำระก่อนและเป็นหนี้ที่ฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมาย แล้วจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินจำนวน 1,300,000 บาทโดยไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมกันไว้ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้ยืม โจทก์จึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้กู้ยืมเงินรายนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคแรก ดังนั้น การที่จำเลยออกเช็คตามฟ้องชำระหนี้กู้ยืมเงินดังกล่าวและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share