คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4961/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสินเป็นระเบียบที่จำเลยประกาศใช้บังคับขึ้นเองไม่ได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้อง แม้โจทก์จำเลยจะเคยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องกำหนดให้ข้อบังคับ ระเบียบการและคำสั่งของจำเลยเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีอยู่ให้ถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518ก็ไม่ทำให้ระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67 ซึ่งมิได้เกิดจากการข้อเรียกร้องกลายเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องไปได้ การที่จำเลยประกาศใช้ระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 202 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 9) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม2527 โดยเพิ่มเงื่อนไขที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพมากกว่าระเบียบฉบับที่ 67 อีกสองข้อ แล้วใช้บังคับแก่พนักงานใหม่ที่เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2527 จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนายจ้างของสมาชิกโจทก์ จำเลยเป็นนายจ้างของสมาชิกโจทก์ จำเลยได้ออกระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 67 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน มีผลใช้บังคับกับพนักงานทุกคนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2506 เป็นต้นไปตามระเบียบดังกล่าวได้กำหนดเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสอง (บำเหน็จ)ไว้ในหมวด 2 ข้อ 11 และเรื่องเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสาม (บำนาญ)ไว้ในหมวด 3 ข้อ 13 ด้วย เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2524 โจทก์ได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยและได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2524 มีข้อตกลงในข้อ 28 ว่า ข้อบังคับระเบียบการและคำสั่งของธนาคารเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีอยู่ให้ถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ดังนั้น ระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 67 จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์และมีผลใช้บังคับแก่สมาชิกของโจทก์ เมื่อวันที่ 26กรกฎาคม 2527 จำเลยได้ออกระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 202ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 9) มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 67 และให้ใช้บังคับแก่พนักงานใหม่ที่เข้าปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2527 เป็นต้นไป ซึ่งตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67 มีเงื่อนไขที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองและประเภทสามเพียง 3 ข้อ แต่ตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 202 เพิ่มเติมเงื่อนไขที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองและประเภทสามถึง 5 ข้อจำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ได้แจ้งข้อเรียกร้อง ระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 202 ของจำเลยเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่นายจ้างทำกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างอันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 20 จึงเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ ขอให้พิพากษาเพิกถอนระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 202 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 9) จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะสมาชิกของโจทก์ที่เข้าทำงานใหม่ยังไม่มีสิทธิรับเงินตามระเบียบใหม่ สมาชิกของโจทก์ที่เป็นลูกจ้างใหม่นั้น เมื่อเข้าทำงานกับจำเลยได้ทำสัญญาไว้ในสัญญาจ้างข้อ 3 ว่า”ข้าพเจ้ายินยอมปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับซึ่งคณะกรรมการธนาคารออมสินหรือผู้อำนวยการธนาคารออมสินได้กำหนดวางไว้แล้วและจะมีกำหนดวางขึ้นอีกในภายหน้า ตลอดทั้งบรรดาคำสั่งโดยชอบของผู้บังคับบัญชาด้วย” ซึ่งในขณะทำสัญญาระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 202 ได้ใช้บังคับอยู่แล้ว ต้องถือว่าลูกจ้างใหม่ที่เป็นสมาชิกของโจทก์ได้ยอมรับระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 202ทุกประการ ระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67 และฉบับที่ 202ไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 202 จึงไม่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 จำเลยจึงไม่ต้องยกเลิกระเบียบดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีคงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่202 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 9) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และมีเหตุที่จะเพิกถอนหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า ระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 202ได้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน ในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 20 บัญญัติไว้มีความหมายว่า สถานประกอบกิจการใดเมื่อมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องใช้บังคับแล้ว ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมจำเลยประกาศใช้บังคับระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 67 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสินต่อมาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2527 จำเลยได้ใช้บังคับระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 202 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 9) ระเบียบการฉบับใหม่มีผลแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบการฉบับเดิมเกี่ยวกับเงินทุนเลี้ยงชีพ โดยเพิ่มเงื่อนไขที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพมากขึ้นกว่าเดิมอีกสองข้อ ให้มีผลใช้บังคับแก่ลูกจ้างใหม่ที่เข้าทำงานภายหลังจากได้ประกาศใช้ระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 202 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน(แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 9) แล้ว ส่วนลูกจ้างเดิมคงบังคับตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน ในกรณีเช่นนี้ระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 202 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน(แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 9) จะฝ่าฝืนมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ต่อเมื่อระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 67 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสินที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 67 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสินเป็นระเบียบการที่จำเลยประกาศใช้บังคับขึ้นเองไม่ได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้อง แม้โจทก์จำเลยเคยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้อง ลงวันที่ 30 พฤษภาคม2524 ข้อ 28 กำหนดให้ข้อบังคับ ระเบียบการและคำสั่งของจำเลยเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีอยู่ให้ถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ก็หาทำให้ระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสินซึ่งไม่ได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้อง กลายเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องไปไม่การที่จำเลยประกาศใช้บังคับระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 202 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 9)จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังได้ความต่อไปว่าจำเลยบังคับใช้ระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 202 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 9) เฉพาะพนักงานใหม่ที่เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม2527 เท่านั้น ลูกจ้างที่เข้าทำงานกับจำเลยหลังวันที่ 1 สิงหาคม2527 ก็ได้ทำสัญญาจ้างกับจำเลยยินยอมปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับซึ่งคณะกรรมการธนาคารออมสินหรือผู้อำนาจการธนาคารออมสินได้กำหนดวางไว้แล้ว ขณะนั้นระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 202ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 9) มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนแล้ว ระเบียบการธนาคารออมสินฉบับที่ 202 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน(แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 9) จึงชอบด้วยกฎหมายและไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share