คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4957/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยจ้างโจทก์ก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาตามมาตรฐานงานก่อสร้างฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างระบุว่า”ก่อนทำการก่อสร้างอาคาร ผู้รับจ้างจะต้องดำเนินการทดสอบหาความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุกของพื้นดินด้วยวิธีหนึ่งวิธีใดตามหลักวิชา จำนวนจุดและตำแหน่งที่จะทำการทดสอบให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของวิศวกรของผู้ว่าจ้าง” จากข้อความที่ว่าจำนวนจุดและตำแหน่งที่จะทำการทดสอบให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของวิศวกรผู้ว่าจ้าง แสดงว่าจำเลยต้องส่งช่างไปกำหนดจุดเจาะและตำแหน่งให้โจทก์ก่อน โจทก์ยังไม่สามารถลงมือทำงานได้ทันทีภายหลังจากได้ทำสัญญา การที่จำเลยส่งช่างไปล่าช้าจึงเป็นการผิดเงื่อนไขของสัญญา ข้อฎีกาในเรื่องค่าเสียหายที่จำเลยอ้างว่าหนี้ระงับไปแล้วแต่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ และมิได้รวมอยู่ในประเด็นที่ว่าโจทก์เสียหายเพียงใดหรือไม่ แม้จำเลยจะนำสืบไว้ในศาลชั้นต้นและกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ก็เป็นเรื่องนอกประเด็น ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ตามสัญญาจ้างก่อสร้างกำหนดให้โจทก์ผู้รับจ้างต้องให้ธนาคารทำหนังสือค้ำประกันจำนวนร้อยละ 5 ของราคาค่าจ้างเหมานำมามอบให้จำเลยและให้โจทก์ต้องนำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกัน ของธนาคารในประเทศมามอบให้จำเลยเพื่อเป็นประกันการเบิกเงินล่วงหน้าจำนวนร้อยละ 15 ของค่าจ้างเมื่อวงเงินตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับมีจำนวนถึง 33,900,000 บาท และ 35,350,000 บาท ตามลำดับโจทก์จึงต้องขอเครดิตจากธนาคาร โดยโจทก์ต้องนำเงินร้อยละ50 ที่โจทก์ได้รับล่วงหน้าจากจำเลยมาฝากประจำไว้เป็นประกันและโจทก์ต้องมอบอำนาจให้ธนาคารรับเงินค่าจ้างตามสัญญาจากจำเลยแทนโจทก์การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ล่าช้าทำให้โจทก์ต้องขายลดตั๋วแลกเงินแก่ธนาคารเป็นจำนวนร้อยละ 80 ของจำนวนที่โจทก์ได้รับค่าจ้างแต่ละงวดเพื่อนำมาใช้จ่ายในการก่อสร้างซึ่งโจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยแก่ธนาคารอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีโจทก์จึงได้รับความเสียหายในจำนวนเงินดังกล่าวตามดอกเบี้ยและระยะเวลาที่ล่าช้า ซึ่งโจทก์เคยมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยแจ้งให้ทราบแล้วว่าโจทก์มีเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอ จำเป็นต้องกู้เงินธนาคารและเสียดอกเบี้ยจำนวนมาก กรณีดังกล่าวย่อมถือได้ว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์ที่โจทก์ต้องขอสินเชื่อและหลักประกันทางการเงินจากธนาคารและต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารล่วงหน้าก่อนแล้ว การที่จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์ล่าช้าทำให้โจทก์เสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษที่จำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายนั้นต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ 2 ฉบับ ฉบับแรกจ้างโจทก์ก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาเชียงรายเป็นเงิน33,900,000 บาท ตกลงจะจ่ายค่าจ้างเป็นงวด รวม 13 งวด เริ่มก่อสร้างภายในวันที่ 14 ตุลาคม 2526 กำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 24พฤศจิกายน 2527 หากส่งมอบงานล่าช้าและจำเลยมิได้บอกเลิกสัญญาโจทก์ยอมให้ปรับวันละ 16,950 บาท จนถึงวันที่งานแล้วเสร็จ ฉบับที่สอง จ้างโจทก์ก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาสกลนคร เป็นเงินรวม 48,350,000 บาท ตกลงจ่ายค่าจ้างเป็นงวด รวม 15 งวดเริ่มทำงานภายในวันที่ 14 ตุลาคม 2526 กำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2527 ถ้าส่งมอบงานล่าช้าและจำเลยมิได้บอกเลิกสัญญา โจทก์ย่อมให้ปรับวันละ 24,175 บาท จนถึงวันที่งานแล้วเสร็จ โจทก์ทำงานแล้วเสร็จล่าช้ากว่ากำหนดสำหรับงานก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาเชียงราย เป็นเวลา 52 วันตามสัญญาก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาสกลนคร เป็นเวลา 76 วันจำเลยปรับโจทก์ตามสัญญาแล้วทั้ง ๆ ที่โจทก์ได้มีหนังสือขอต่ออายุสัญญาเนื่องจากเป็นความผิดของจำเลยที่ส่งช่างมาควบคุมงานและกำหนดสถานที่ก่อสร้าง การจ่ายค่าจ้างแต่ละงวดล่าช้าและเหตุอื่น ๆอันเป็นการทำผิดเงื่อนไขในสัญญา การที่จำเลยส่งช่างมาควบคุมงานล่าช้า และจ่ายเงินค่าจ้างล่าช้า ทำให้โจทก์เสียหายขาดเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อวัสดุต้องขอสินเชื่อจากธนาคารต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูง โจทก์ทวงถามจำเลยหลายครั้ง จำเลยบ่ายเบี่ยง ความเสียหายของโจทก์อันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษนี้จำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว จำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ สำหรับความล่าช้าเกี่ยวกับงานก่อสร้างประปาเชียงราย ซึ่งโจทก์ขอคิดเพียง 253 วัน วันละ 16,950 บาทเท่ากับค่าปรับตามสัญญาเป็นเงินรวม 4,288,350 บาท สำหรับความล่าช้าของงานก่อสร้างประปาสกลนครซึ่งโจทก์ขอคิดเพียง 563 วัน วันละ24,175 บาท เท่าค่าปรับตามสัญญารวมเป็นเงิน 13,610,525 บาท ขอให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่โจทก์รวม17,898,875 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์และปรับโจทก์ตามฟ้องจริงตามสัญญาจ้างจำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องส่งผู้ควบคุมงาน หรือนายช่างควบคุมงานไปประจำอยู่ ณ ที่ทำการตามสัญญา จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างแต่ละงวดให้โจทก์ตามระเบียบของทางราชการ จำเลยได้จ่ายเงินล่วงหน้าให้โจทก์ 12,337,500 บาท และมีข้อกำหนดว่า จำเลยจะหักเงินล่วงหน้าดังกล่าวคืนทุกครั้งที่มีการรับเงินงวดโดยหักเงินครั้งละเพียงร้อยละ 20 ของค่างานงวดนั้น ๆ โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะเรียกค่าปรับจากจำเลย จำเลยไม่เคยทราบพฤติการณ์การขาดเงินหมุนเวียนของโจทก์ใบแจ้งความประกวดราคาข้อ 24 ระบุว่า การจ่ายเงินค่าก่อสร้างในปีงบประมาณ 2526 จำเลยจะจ่ายให้ไม่เกินวงเงินที่ได้รับอนุมัติงวดเงินจากสำนักงบประมาณส่วนที่เหลือจะจ่ายให้ในปีต่อไปตามที่ได้รับงบประมาณ โจทก์ทราบและยอมรับปฏิบัติตามเงื่อนไขแจ้งความประกวดราคาทั้งจะไม่ยกเอาเหตุหนึ่งเหตุใดขึ้นลบล้างหรือเพิ่มเติมเงื่อนไขอย่างใดทั้งสิ้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในความล่าช้า ค่าเสียหายตามที่โจทก์อ้างว่าเนื่องจากจำเลยส่งช่างมาควบคุมงานล่าช้าและจ่ายเงินค่าจ้างแต่ละงวดล่าช้า ทำให้โจทก์ขาดเงินหมุนเวียนใช้ซื้อวัสดุก่อสร้าง ต้องติดต่อขอสินเชื่อจากธนาคารและต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงเป็นค่าเสียหายในพฤติการณ์พิเศษนั้น จำเลยไม่เคยรู้และไม่อาจคาดเห็นได้ว่าโจทก์จะไปกู้เงินจากธนาคารมาดำเนินงาน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 1,506,667.56 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อแรกตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยมีหน้าที่ส่งช่างไปควบคุมงานและผิดเงื่อนไขในสัญญาโดยส่งช่างไปควบคุมงานล่าช้าหรือไม่ โจทก์มีนายธวัช หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์เบิกความประกอบเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ว่าก่อนลงมือก่อสร้าง โจทก์ต้องเจาะสำรวจชั้นดินหาความหนาแน่นของชั้นดินเพื่อกำหนดเสาเข็มของฐานราก โดยต้องปฏิบัติตามมาตรฐานงานก่อสร้างการประปาส่วนภูมิภาค ป.01/2526 งานก่อสร้างทั่วไปมาตรฐานดังกล่าวกำหนดว่างานรากฐาน ก่อนทำการก่อสร้างอาคารผู้รับจ้างต้องดำเนินการทดสอบหาความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุกของพื้นดินด้วยวิธีหนึ่งวิธีใดตามหลักวิชา จำนวนจุดและตำแหน่งที่ทดสอบให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของวิศวกรผู้ว่าจ้าง ซึ่งเมื่อตรวจพิจารณารายการประกอบงานก่อสร้างทั่วไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาตามเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 2.2 ว่าด้วยงานเจาะสำรวจชั้นดินก็ระบุว่า “ก่อนลงมือทำการก่อสร้าง ผู้รับจ้างจะต้องดำเนินการเจาะสำรวจชั้นดินภายในบริเวณโรงกรองน้ำและบริเวณถังจ่ายน้ำจำนวน 2 หลุม ทั้งนี้ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานงานก่อสร้างประปาส่วนภูมิภาค ป.01/2526 งานก่อสร้างทั่วไป” และตามเอกสารหมาย ล.1ข้อ 2.2 ว่าด้วยงานเจาะสำรวจชั้นดินก็ระบุความเช่นเดียวกันกับเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 2.2 และตามข้อ 4 มาตรฐานงานก่อสร้างประปาส่วนภูมิภาค ป.01/2526 งานก่อสร้างทั่วไป ว่าด้วยรากฐานเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ทั้งสองฉบับระบุไว้ในข้อ 4.1 ว่า”การทดสอบความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุกของชั้นดิน ก่อนทำการก่อสร้างอาคารผู้รับจ้างจะต้องดำเนินการทดสอบหาความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุกของพื้นดินด้วยวิธีหนึ่งวิธีใดตามหลักวิชาจำนวนจุดและตำแหน่งที่จะทำการทดสอบให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของวิศวกรของผู้ว่าจ้าง” ข้อความที่ว่าจำนวนจุดและตำแหน่งที่จะทำการทดสอบให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของวิศวกรผู้ว่าจ้างแสดงว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งช่างไปกำหนดจุดและตำแหน่งให้โจทก์หาใช่โจทก์สามารถเริ่มลงมือทำงานได้ทันทีภายหลังจากได้ทำสัญญากันดังที่จำเลยฎีกาไม่ นอกจากนี้นายชวลิต และนายอนุชิต ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองควบคุมการก่อสร้างและผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมการก่อสร้างของจำเลย ได้เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เกี่ยวกับการเจาะพื้นดิน ถ้าจำเลยไม่ส่งผู้ควบคุมไปชี้จุดเจาะ โจทก์ก็ไม่สามารถทำงานได้ อันเป็นการเจือสมกับพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมากรณีจึงฟังได้ว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งช่างไปทำการกำหนดจำนวนจุดและตำแหน่งเจาะสำรวจชั้นดิน การที่จำเลยส่งช่างไปล่าช้าจึงเป็นการผิดเงื่อนไขในสัญญา
จำเลยฎีกาในประการต่อมาว่า จำเลยต่อสัญญาจ้างทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้รับเงินค่าปรับในกรณีได้รับอนุมัติให้ต่อสัญญาดังกล่าวคืนไปจากจำเลยแล้ว หนี้ค่าเสียหายนี้เป็นอันระงับไป จำเลยไม่ต้องชำระค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์อีก การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์อีก จึงเป็นการบังคับให้จำเลยต้องชำระค่าเสียหายในหนี้ที่ระงับไปแล้วอันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนข้อเท็จจริงนี้จำเลยนำสืบไว้แล้วในศาลชั้นต้น และกล่าวอ้างมาในชั้นอุทธรณ์ ทั้งรวมอยู่ในประเด็นที่ว่าโจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใดจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา นั้น เห็นว่า ฎีกาข้อนี้ของจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ และมิได้รวมอยู่ในประเด็นที่ว่าโจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใดที่จำเลยนำสืบในศาลชั้นต้นและกล่าวอ้างในอุทธรณ์เป็นเรื่องนอกประเด็น การที่ยกมากล่าวอ้างในชั้นฎีกาอีกจึงเป็นฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยมีว่า การที่จำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์ล่าช้า ทำให้โจทก์เสียหายอันเกิดจากพฤติการณ์พิเศษที่จำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้วหรือไม่เพียงใดนั้นได้ความจากนายธวัช ซึ่งเบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ว่าตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวกำหนดให้โจทก์ต้องให้ธนาคารทำหนังสือค้ำประกันเป็นจำนวนร้อยละ 5 ของราคาค่าจ้างเหมานำมามอบให้แก่จำเลย และตามสัญญาข้อ 4.1 กำหนดให้โจทก์ต้องนำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารในประเทศที่เชื่อถือได้มามอบให้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการเบิกเงินล่วงหน้าจำนวนร้อยละ 15 ของราคาค่าจ้างเมื่อวงเงินตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับมีจำนวนถึง 33,900,000 บาทและ 48,350,000 บาท ตามลำดับ โจทก์จึงจำต้องขอเครดิตจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซึ่งทางธนาคารได้ทำหนังสือค้ำประกันและให้เครดิตแก่โจทก์ โดยโจทก์ต้องนำเงินร้อยละ 50 ที่โจทก์ได้รับล่วงหน้าจากจำเลยมาฝากประจำไว้เป็นประกัน และโจทก์ต้องมอบอำนาจให้ธนาคารรับเงินค่าจ้างตามสัญญาจากจำเลยแทนโจทก์ การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ล่าช้าทำให้โจทก์ต้องขายลดตั๋วแลกเงินแก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นจำนวนร้อยละ 80 ของจำนวนที่โจทก์ได้รับเงินค่าจ้างแต่ละงวดเพื่อนำมาใช้จ่ายในการก่อสร้างซึ่งโจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี โจทก์จึงได้รับความเสียหายในจำนวนดังกล่าวตามดอกเบี้ยและระยะเวลาที่ล่าช้าในหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ก็ระบุว่าโจทก์มีเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอจำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคารและเสียดอกเบี้ยจำนวนมากทั้งเงินค่าจ้างที่โจทก์ได้รับเป็นค่าจ้างล่วงหน้าจากจำเลยตามสัญญาทั้งสองฉบับเป็นจำนวนเงิน 12,337,500 บาท ก็ต้องหักภาษีร้อยละ 4.5 และโจทก์ก็ต้องนำฝากธนาคารไว้ร้อยละ 50 โจทก์ต้องมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารให้จำเลยไว้เพื่อเป็นหลักประกันร้อยละ15 ตามสัญญาข้อ 4.1 ทั้งสองสัญญา ซึ่งโจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ธนาคาร และจำเลยยังหักเงินจำนวนร้อยละ 20 ของเงินที่โจทก์รับไปแต่ละงวด คืนแก่จำเลยสำหรับเงินค่าจ้างที่โจทก์รับไปล่วงหน้านั้นด้วย คำเบิกความของนายธวัชประกอบเอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างอิงมีน้ำหนัก ดังนี้ กรณีดังกล่าวย่อมถือได้ว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์ที่โจทก์ต้องขอสินเชื่อและหลักประกันทางการเงินจากธนาคารและต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารล่วงหน้าก่อนแล้ว ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้เสียหายโจทก์ไม่จำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคาร เพราะโจทก์ได้รับเงินล่วงหน้าจากจำเลยไปแล้วจำนวน 12,337,500 บาท โจทก์จึงมีเงินหมุนเวียนเพียงพอจะทำงานตามสัญญาจ้างได้ และการจ่ายเงินล่าช้านั้นจำเลยมิได้มีเจตนาหรือจงใจจะจ่ายให้โจทก์ล่าช้าแต่ประการใดเหตุที่ล่าช้าเนื่องจากสำนักงานงบประมาณไม่มีเงินเพียงพอที่จะจัดสรรตามที่จำเลยขอเบิกมาจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ จำเลยต้องหาแหล่งเงินกู้เองจึงไม่อาจหารายได้ส่วนอื่นมาจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ได้นั้นจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่า การรับเงินค่าจ้างล่วงหน้าจะทำให้โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายได้อย่างไร ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่า ที่จำเลยจ่ายค่าจ้างล่าช้านั้นเพราะสำนักงบประมาณมีเงินงบประมาณปี 2526ไม่เพียงพอ ก็ปรากฏว่าขณะที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างงวดที่ล่าช้านั้นอยู่ในปีงบประมาณปี 2527 แล้ว จำเลยนำสืบเพียงลอย ๆ ว่าเงินงบประมาณปี 2527 ก็มีไม่เพียงพอ เมื่อปรากฏว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างล่าช้าหลายงวด บางงวดล่าช้าไปมากกว่า 100 วัน โดยจำเลยมิได้นำสืบว่าการจ่ายค่าจ้างล่าช้างวดใดเป็นเพราะเหตุมีเงินงบประมาณไม่เพียงพอจึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่มีเหตุผลในการรับฟัง คดีฟังได้ว่า การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ล่าช้าทำให้โจทก์เสียหายอันเกิดแก่พฤติการณ์พิเศษที่จำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว
พิพากษายืน

Share