คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4955/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นรับฎีกาภายหลังระยะเวลาที่จะยื่นฎีกาได้สิ้นสุดลงแล้ว ดังนี้ จำเลยมีสิทธิจะขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยเท่านั้น แต่พฤติการณ์ตามคำร้องของจำเลยที่อ้างว่า จำเลยไม่เข้าใจขั้นตอนต่าง ๆ ในการต่อสู้คดีว่าจำเลยมีสิทธิที่จะยื่นฎีกาภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ทนายจำเลยเพิ่งทราบว่าศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาแล้วจำเลยไม่มีเจตนาที่จะไม่ยื่นฎีกาภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดนั้น ไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย จึงไม่เข้าเกณฑ์ที่จำเลยจะขอขยายระยะเวลาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีมอร์ฟีน โคเคอีน และฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในวาระเดียวกัน แม้วัตถุแห่งการกระทำความผิดจะต่างชนิดกัน แต่ต่างเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว จำเลยมีอาวุธปืนลูกซองพร้อมกระสุนปืนลูกซองและกระสุนปืนขนาด .32 ไว้ในครอบครองเป็นกรรมเดียวกัน แต่ศาลล่างทั้งสองวางโทษ 2 กระทง จึงไม่ชอบ แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์และฎีกาปัญหาข้อนี้แต่ปัญหานี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงวางโทษเสียใหม่ให้ถูกต้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมีมอร์ฟีนสารบริสุทธิ์5,128.021 กรัม โคเคอีนสารบริสุทธิ์ 604 กรัม และฝิ่นสารบริสุทธิ์384.979 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันมีอาวุธปืนลูกซองยาวขนาดเบอร์ 12 จำนวน 1 กระบอก ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ มีกระสุนปืนลูกซองขนาดเบอร์ 12 จำนวน 8 นัดกระสุนปืนขนาด .32 จำนวน 8 นัด โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ กระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 จำนวน 3 นัดกระสุนปืนคาร์ไบน์ ขนาด .32 จำนวน 4 นัด อันเป็นเครื่องกระสุนปืนประเภท ชนิด และขนาดซึ่งนายทะเบียนจะออกไปอนุญาตให้ไม่ได้ ไว้ในครอบครองของจำเลยโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 17, 69, 102 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 2, 4, 6, 10พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 55, 72, 78 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 8 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519ข้อ 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องลงโทษฐานมีมอร์ฟีน โคเคอีน และฝิ่น คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินกว่าหนึ่งร้อยกรัมขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 5 ปี ฐานมีอาวุธปืนลูกซองและเครื่องกระสุนปืนลูกซองจำนวน 8 นัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานมีเครื่องกระสุนปืนขนาด .32จำนวน 8 นัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 200 บาทฐานมีเครื่องกระสุนปืนคาร์ไบน์จำนวน 4 นัด ซึ่งเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกไปอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง จำคุก 2 ปีรวมลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 8 ปี ปรับ 200 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7(2), 17 วรรคสอง และ 69 วรรคสี่ที่แก้ไขแล้ว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2533 จำเลยยื่นฎีกาในวันที่12 มีนาคม 2533 พร้อมคำร้องในวันเดียวกันขออนุญาตยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอ้างว่า จำเลยเป็นชาวเขาไม่สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้และศาลชั้นต้นเปิดตัวจำเลยจากเรือนจำมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยไม่ได้หมายนัดแจ้งวันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ทนายจำเลยทราบ เมื่อจำเลยฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วไม่สามารถติดต่อกับทนายจำเลยได้ ญาติพี่น้องก็ไม่มีผู้ใดทราบเรื่อง จำเลยไม่เข้าใจขั้นตอนต่าง ๆ ในการต่อสู้คดีว่า จำเลยมีสิทธิที่จะยื่นฎีกาภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทนายจำเลยเพิ่งทราบว่าศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2533 โดยดูจากสำเนาฎีกาของโจทก์ที่ญาติจำเลยนำมามอบให้เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2533 จำเลยไม่มีเจตนาที่จะไม่ยื่นฎีกาภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขอได้โปรดให้มีการไต่สวนคำร้อง ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของจำเลยดังกล่าวแล้วสั่งว่า พฤติการณ์ฟังได้ว่าการที่จำเลยยื่นฎีกาพ้นกำหนดเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย จึงอนุญาตให้จำเลยฎีกาตามคำร้อง ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นรับฎีกาภายหลังระยะเวลาที่จะยื่นฎีกาได้สิ้นสุดลงแล้ว ดังนี้จำเลยมีสิทธิจะขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยเท่านั้น แต่พฤติการณ์ตามคำร้องของจำเลยดังกล่าวข้างต้นนั้นไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย จึงไม่เข้าเกณฑ์ที่จำเลยจะขอขยายระยะเวลาได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาจึงไม่ชอบ ศาลฏีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนปัญหาตามฎีกาโจทก์ที่ว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่มีมอร์ฟีนโคเคอีนและฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องต่างกรรมกันหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าการกระทำความผิดต่างกรรมกัน เพราะวัตถุแห่งการกระทำความผิดต่างชนิดกันจึงต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างลงโทษจำเลยเพียงกระทงเดียวจึงไม่ชอบเห็นว่า เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีวัตถุแห่งการกระทำความผิดดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในวาระเดียวกันเช่นนี้ แม้วัตถุแห่งการกระทำความผิดจะต่างชนิดกัน แต่ก็ต่างเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ด้วยกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว ไม่ใช่ต่างกรรมกันดังที่โจทก์ฎีกา ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองต่างวางโทษจำเลยเพียงกระทงเดียว ให้จำคุกจำเลย 5 ปี จึงชอบแล้ว อนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่าความผิดของจำเลยฐานมีอาวุธปืนลูกซองพร้อมกระสุนปืนลูกซองและกระสุนปืนขนาด .32 ตามฟ้องไว้ในครอบครองเป็นกรรมเดียวกันแต่ศาลชั้นต้นวางโทษมา 2 กระทง คือ ฐานมีอาวุธปืนลูกซองและกระสุนปืนลูกซอง จำคุก 1 ปี ฐานมีกระสุนปืนขนาด .32 ปรับ 200 บาทและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงไม่ชอบ แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์และฎีกาปัญหาข้อนี้ แต่ปัญหานี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงวางโทษเสียใหม่ให้ถูกต้อง โดยวางโทษเฉพาะความผิดฐานมีอาวุธปืนลูกซองและกระสุนปืนซอง ตามที่ศาลชั้นต้นวางไว้เพียงกระทงเดียว ทั้งศาลชั้นต้นปรับบทโดยไม่ได้ระบุวรรค จึงเห็นสมควรระบุวรรคให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 72 วรรคแรก โดยไม่ลงโทษปรับ 200 บาทแก่จำเลยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share