แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 2 นำบิลเงินสดซึ่งตนรู้อยู่ว่าเป็นเอกสารปลอมไปแสดงต่อกรมสรรพากรพร้อมกับให้ถ้อยคำประกอบเพื่อขอเงินภาษีคืนจากกรมสรรพากร จนกรมสรรพากรคืนเงินภาษีอากรให้แก่จำเลยที่ 1ผู้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปกระทำการดังกล่าว การกระทำของจำเลยถือว่า เกิดความเสียหายแก่กรมสรรพากรแล้ว จำเลยที่ 2ต้องรับผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้เอกสารปลอมด้วย โทษปรับนิติบุคคลจะกักขังแทนเงินไม่ได้ จึงจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 เท่านั้น.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจำเลยที่ 2 เป็นสมุห์บัญชีของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ทำบัญชีรายรับรายจ่ายและงบดุล ของจำเลยที่ 1 และยื่นแบบแสดงรายการการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยที่ 1 กับยื่นคำร้องขอเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยที่ 1 คืนจากกรมสรรพากร เมื่อระหว่างต้นเดือนกรกฎาคม 2517 ถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2521 มีคนร้ายปลอมเอกสารบิลเงินสด (ใบเสร็จรับเงิน) ของห้างฯ เจริญอุดม ขึ้นทั้งฉบับระบุว่าห้างฯ เจริญอุดม ขายเหล็กชนิดต่าง ๆ ให้จำเลยที่ 1 ในรอบปี2517 จำนวน 40 ฉบับ เป็นเงิน 3,003,504 บาท และในรอบปี 2518จำนวน 21 ฉบับ เป็นเงิน 1,922,540.60 บาท อันเป็นข้อความเท็จทั้งนี้เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่พบเห็นบิลเงินสดจำนวน 61 ฉบับดังกล่าวหลงเชื่อว่า บิลเงินสดนั้นเป็นเอกสารสิทธิที่แท้จริงความจริงห้างฯ เจริญอุดม ไม่เคยติดต่อค้าขายเหล็กให้จำเลยที่ 1และไม่ได้ออกบิลเงินสดค่าขายเหล็กเป็นหลักฐานการรับเงินมอบให้จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวน่าจะเกิดความเสียหายแก่ห้างฯ เจริญอุดม และประชาชน ต่อมาจำเลยทั้งสองร่วมกันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายต่อกรมสรรพากร โดยอ้างว่าในรอบปี 2517 และ 2518 จำเลยที่ 1 ยังมีผลขาดทุนสิทธิ โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันนำบิลเงินสดจำนวน 61 ฉบับอันเป็นเอกสารสิทธิปลอมดังกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสองรู้ อยู่ แล้วว่าเป็นเอกสารสิทธิปลอมยื่นแสดงต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรทำการตรวจสอบทั้งนี้เพื่อให้บุคคลผู้ตรวจสอบและผู้พบเห็นบิลเงินสดดังกล่าวหลงเชื่อบิลเงินสดนั้นเป็นเอกสารสิทธิที่แท้จริง ซึ่งห้างฯเจริญอุดม ออกให้ไว้เป็นหลักฐานค่าซื้อเหล็กชนิดต่าง ๆ เพื่อจะได้ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลต่อกรมสรรพากรดังกล่าวอันเป็นความเท็จการกระทำของจำเลยทั้งสองน่าจะเกิดความเสียหายต่อกรมสรรพากรขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268, 83และริบบิลเงินสดของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268, 83 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน10,000 บาท มีกำหนด 2 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบบิลเงินสดของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 264, 83ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 6,000 บาท จำคุก จำเลยที่ 2 มีกำหนด1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อปี2520 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรต่อกรมสรรพากรโดยอ้างว่า ได้ชำระภาษีในรอบปี 2517 และ 2518 เกินไปและได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำสมุดบัญชี เอกสารบิลเงินสดปี 2517จำนวน 40 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.4 และบิลเงินสดปี 2518จำนวน 21 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.5 ไปแสดงต่อกรมสรรพากรเพื่อให้ตรวจสอบยอดขาดทุนสะสมหักลดกับเงินภาษีอากรที่ชำระไว้แล้ว กรมสรรพากรตรวจสอบเสร็จแล้วเชื่อว่า บิลเงินสดจำนวน 61 ฉบับ เป็นเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานประกอบการลงบัญชีถูกต้องแล้วจึงคำนวณหักลดยอดเงินขาดทุนให้และจ่ายเงินภาษีอากรคืนจำเลยที่ 1 จำนวน 42,592.27 บาทและข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บิลเงินสดเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5เป็นเอกสารปลอม ในข้อหาจำเลยที่ 1 ใช้เอกสารปลอม ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ว่า จำเลยที่ 1 รู้อยู่ แล้วว่าบิลเงินสดเอกสารหมาย จ.4และ จ.5 ที่นำไปแสดงต่อกรมสรรพากรในการขอหักค่าใช้จ่ายและขอภาษีคืนนั้นเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ฎีกา คดีสำหรับจำเลยที่ 1จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้เอกสารปลอมดังกล่าวหรือไม่ พยานโจทก์ที่นำสืบมาน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ซื้อเหล็กตามบิลเงินสดเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 มาจริง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสมุห์บัญชีของจำเลยที่ 1 ผู้รับผิดชอบ รวบรวมบิลเงินสดลงสมุดบัญชีรายวันซื้อรายวันขาย และบัญชีแยกประเภท จึงมีหน้าที่ต้องตรวจสอบว่าบิลเงินสดดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ จำเลยที่ 2 ติดต่อซื้อเหล็กเส้นจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเจริญอุดม มานาน ย่อมต้องทราบถึงลักษณะลายมือเขียนใบเสร็จ ลายมือชื่อผู้รับเงิน และแบบฟอร์มใบเสร็จที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร ถ้าเชื่อว่ามีการซื้อขายเหล็กกันจริง จึงนำบิลเงินสดดังกล่าวมาลงบัญชี น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 รู้ เรื่องความเป็นมาของบิลเงินสดเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 มาแต่ต้นจนกระทั่งส่งให้กรมสรรพากรตรวจสอบและจำเลยที่ 2 รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เกี่ยวกับเรื่องเอกสารดังกล่าวตามบันทึกคำให้การของพยานเอกสารหมาย จ.35 ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าไม่รู้ว่าเป็นเอกสารปลอมจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 รู้อยู่ ว่าบิลเงินสดเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5เป็นเอกสารปลอม เมื่อจำเลยที่ 2 รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1นำเอกสารดังกล่าวไปแสดงต่อกรมสรรพากร จนกรมสรรพากรคืนเงินภาษีอากรแก่จำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเกิดความเสียหายแก่กรมสรรพากรแล้วจำเลยที่ 2 ย่อมมีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้เอกสารปลอมด้วยแม้ว่าโจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 268, 83 ก็ตามคดีได้ความจากพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 2ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้บิลเงินสดเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ปลอมโจทก์สืบสมตามฟ้อง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์อ้างบทมาตราผิดขอให้ยกฟ้องนั้นเห็นว่าเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างบทมาตราผิด ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจแก้บทลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น อนึ่ง คดีนี้ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 เพียงปรับสถานเดียว หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลจะกักขังแทนเงินค่าปรับไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้กักขังจำเลยที่ 1 หากไม่ชำระค่าปรับจึงไม่ชอบ
พิพากษายืน แต่เฉพาะจำเลยที่ 1 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29.