คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4953/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อบังคับของบริษัทโจทก์กำหนดให้กรรมการคือ ส.ช.และจ. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ โดยกรรมการสองในสามคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราบริษัทจึงจะผูกพันโจทก์แต่การที่ ส.ซึ่งได้ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์แล้วยังมาร่วมลงลายมือชื่อกับ ช. ในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอีก เป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ ความเกี่ยวพันกันในระหว่างบริษัทโจทก์กับ ส.ผู้เป็นกรรมการนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 กำหนดให้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทน ฉะนั้น ส.ย่อมจะบอกเลิกการเป็นผู้แทนของโจทก์เสียเวลาใด ๆ ก็ได้ทุกเมื่อ และย่อมมีผลทันทีเมื่อได้แสดงเจตนาแก่โจทก์ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 826,827,386หาใช่มีผลต่อเมื่อโจทก์ได้นำไปจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแล้วไม่ ส่วนการบังคับให้จดทะเบียนตามมาตรา 1023นั้น เป็นกรณีที่โจทก์จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกถึงการเปลี่ยนแปลงยังไม่ได้ จนกว่าจะได้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยใช้เงินตามเช็ค
จำเลยให้การต่อสู้หลายประเด็น รวมทั้งผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ชอบ นายจิรัฐ ลาวัลย์ตระกูล ผู้รับมอบอำนาจ ไม่มีอำนาจดำเนินคดีพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่านายจิรัฐ ลาวัลย์ตระกูล ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่านายจิรัฐผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความยอมรับว่านายแสงชัย ชัยพัฒนาการ กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ ซึ่งร่วมลงลายมือชื่อกับนายไชยยงค์ ฆังนิมิตร กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์อีกนายหนึ่ง มอบอำนาจให้นายจิรัฐฟ้องจำเลยคดีนี้ ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2530 แล้ว แต่ตามหนังสือมอบอำนาจให้นายจิรัฐฟ้องคดีนี้ ปรากฏว่าลงวันที่ 7 ธันวาคม 2530 เป็นวันที่หลังจากนายแสงชัยลาออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์แล้ว หนังสือมอบอำนาจซึ่งมีนายแสงชัยร่วมลงลายมือชื่อด้วยจึงไม่ต้องด้วยข้อบังคับของโจทก์ ที่กำหนดให้กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์คือนายแสงชัย ชัยพัฒนาการ นายไชยยงค์ ฆังนิมิตร และนายเจริญ ประสิทธิ์วรากุล โดยกรรมการสองในสามคน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราบริษัทจึงจะกระทำการผูกพันโจทก์ การที่นายแสงชัยพ้นจากสภาพเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ด้วยการลาออกแล้วยังมาร่วมลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้นายจิรัฐฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ตามหนังสือมอบอำนาจอีกเป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจ นายจิรัฐจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ ที่โจทก์ฎีกาโต้แย้งว่าการลาออกของนายแสงชัยยังไม่มีผลตามกฎหมายเพราะยังไม่ได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงนั้น เห็นว่า ความเกี่ยวพันกันในระหว่างบริษัทโจทก์กับนายแสงชัย ผู้เป็นกรรมการนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 กำหนดให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยตัวแทน ฉะนั้น นายแสงชัยย่อมจะบอกเลิกการเป็นผู้แทนของโจทก์เสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ทุกเมื่อ และย่อมมีผลทันทีเมื่อได้แสดงเจตนาแก่โจทก์ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 826, 827, 386 หาใช่มีผลต่อเมื่อโจทก์ได้นำไปจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแล้วไม่ ส่วนการบังคับให้จดทะเบียนตามมาตรา 1023 นั้น เป็นกรณีที่โจทก์จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกถึงการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จนกว่าจะได้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share