คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4941/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นหญิงโสเภณี โกรธแค้น ว. และบ. ผู้ตาย เรื่องจะสับเปลี่ยนคู่นอนร่วมประเวณี จึงมาเล่าเรื่องและขอให้จำเลยที่ 3 กับพวกไปช่วยสั่งสอนให้หน่อยซึ่งหมายถึงการทำร้ายให้เจ็บตัวเพียงเพื่อ สั่งสอนเท่านั้นหาได้มีเจตนามุ่งหมายถึงกับจะฆ่าให้ตายไม่ ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็ร่วมไปยังที่เกิดเหตุกับจำเลยที่3 กับพวกด้วย เพื่อชี้ตัวให้ดูว่าใครคือ ว. และ บ.การที่จำเลยที่ 3 กระทำรุนแรง ถึงขั้นเจตนาฆ่าโดยใช้มีดแทง บ. ผู้ตายถึงแก่ความตาย ย่อมเป็นการเกินเลยไปจากขอบเขตที่ใช้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 1 ที่2 ต้องรับผิดทางอาญาเพียงสำหรับความผิดเท่าที่อยู่ในขอบเขตที่ใช้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 87 แต่เมื่อการทำร้าย บ. ผู้ตาย เกิดผลรุนแรงถึงตายดังกล่าวจำเลยที่ 1ที่ 2 ย่อมต้องรับผิดฐาน ทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้คนตายตาม มาตรา 290 เพราะการตาย เป็นผลธรรมดาอันย่อมเกิดขึ้นได้จากการทำร้ายตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ใช้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงมีความผิดตามมาตรา 290,84ประกอบด้วย มาตรา 87 วรรคสอง หมายเหตุ ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2528

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องใจความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้ให้จำเลยที่ 3กับพวกฆ่านายบังยา หรือปัญญา กับนายวิเชียร จำเลยที่ 3 กับพวกมีมีดปลายแหลมคนละเล่มเป็นอาวุธพกพาไปในทางสาธารณะและร่วมกันใช้มีดนั้นแทงนายบังยาโดยเจตนาฆ่า นายบังยาได้ถึงแก่ความตายเพราะพิษบาดแผลที่ถูกแทงนั้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, 83, 84, 91 และริบมีดของกลาง

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ลงโทษประหารชีวิต จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยทั้งสามไว้ตลอดชีวิต ริบมีดของกลาง ข้อหาอื่นให้ยกเสีย

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เชื่อว่า จำเลยที่ 3 ใช้มีดแทงนายบังยาโดยเจตนาฆ่าจริง แต่เห็นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 3 ทำร้ายนายบังยาโดยไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 3 มีมีด จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงควรรับผิดเพียงในขอบเขตที่ใช้ พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดเพียงฐานทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ประกอบด้วย มาตรา 84, 87 ให้จำคุกคนละ 2 ปี ลดรับสารภาพแล้วคงจำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยเชื่อว่าจำเลยที่ 3 แทงนายบังยาถึงแก่ความตาย โดยมีเจตนาฆ่า

วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1ที่ 2 ก็มีเจตนาฆ่า จึงควรรอโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ด้วยนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แลั้ว ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2โกรธแค้นนายวิเชียรและนายบังยาผู้ตายเรื่องจะสับเปลี่ยนคู่นอนร่วมประเวณี จึงมาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้จำเลยที่ 3 และนายทิดฟังและขอให้จำเลยที่ 3 และนายทิดไปช่วยสั่งสอนให้หน่อย โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็ร่วมไปยังที่เกิดเหตุกับจำเลยที่ 3และนายทิดด้วย เพื่อชี้ตัวให้จำเลยที่ 3 และนายทิดดูว่าใครคือนายวิเชียรและนายบังยา ลักษณะเป็นการชวนกันไปทำร้ายผู้ตายนั่นเอง เพราะถ้าจำเลยที่ 1 ที่ 2ไม่ไปชี้ตัวให้ดู จำเลยที่ 3 และนายทิดก็ย่อมไม่ทราบว่าใครคือบุคคลที่ต้องการจะให้สั่งสอน คำว่า “ช่วยสั่งสอนให้หน่อย” ย่อมหมายถึงการทำร้ายให้เจ็บตัวเพียงเพื่อสั่งสอนเท่านั้น หาได้มีเจตนามุ่งหมายถึงกับจะฆ่าให้ตายไม่ การที่จำเลยที่ 3 กระทำการรุนแรงถึงขั้นเจตนาฆ่านั้นเป็นการเกินเลยไปจากขอบเขตที่ใช้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องรับผิดทางอาญาเพียงสำหรับความผิดเท่าที่อยู่ในขอบเขตที่ใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 87 อย่างไรก็ตามศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะมีเจตนาเพียงทำร้ายเพื่อสั่งสอนก็ตาม แต่เมื่อการทำร้ายนั้นเกิดผลรุนแรงถึงตาย จำเลยที่ 1ที่ 2 ย่อมต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้คนตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 เพราะการตายเป็นผลธรรมดาอันย่อมเกิดขึ้นได้จากการทำร้ายตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ใช้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290, 84 ประกอบด้วยมาตรา 87 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดเพียงฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295, 84, 87 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้คนตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290, 84 ประกอบด้วยมาตรา 87 วรรคสองจำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 คนละ 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share