แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญารับสภาพหนี้และร่วมรับผิดชดใช้หนี้สินมีข้อความว่า จำเลยที่ 1 มีหนี้สินเบิกเงินเกินบัญชี สัญญาขายลดเช็ค และกู้ยืมเงิน ค้างชำระอยู่แก่โจทก์ในวันที่ 31 ตุลาคม 2529 เป็นต้นเงินจำนวน 8,010,650 บาท และดอกเบี้ยจำนวน1,987,439.27 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,998,089.27 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ยินยอมรับผิดใช้หนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 21พฤศจิกายน 2529 โดยหนี้สัญญาขายลดเช็คจะผ่อนชำระเดือนละไม่ต่ำกว่า 45,000บาท หนี้กู้ยืมเงินจะผ่อนชำระดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท หลังจากเดือนกรกฎาคม 2530 จะตกลงจำนวนเงินผ่อนชำระอีกครั้งโดยต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละ60,000 บาท และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจะนำเงินเข้าหมุนเวียนลดยอดหนี้ในบัญชีให้อยู่ในวงเงินตามสัญญาภายใน 6 เดือน หากผิดนัดชำระหนี้ตามเงื่อนไขดังกล่าวให้ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมดยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับได้ทั้งหมดทันที ดังนี้เป็นเพียงการที่จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 เพียงฝ่ายเดียวได้ยอมรับว่าเป็นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสัญญาขายลดเช็ค และสัญญากู้ยืมเงินอยู่แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เป็นจำนวนเท่าใดและจะผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์อย่างไร ภายในระยะเวลาเท่าใด แต่หาได้มีลักษณะเป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันไม่ สัญญารับสภาพหนี้และร่วมรับผิดชดใช้หนี้สินตามเอกสารดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่เป็นเพียงการรับสภาพหนี้เท่านั้น
ขณะทำสัญญารับสภาพหนี้ได้มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยหรือส่วนลดได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ดังนี้การที่ทำสัญญารับสภาพหนี้กำหนดดอกเบี้ยกันไว้ร้อยละ 19 ต่อปี จึงไม่ชอบและตกเป็นโมฆะ ทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิย้อนกลับไปเรียกให้จำเลยทั้งหกรับผิดชำระดอกเบี้ยตามสัญญาเดิมได้อีก คงรับผิดในดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องในต้นเงินที่ค้างชำระ
การชำระดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อได้ชำระไปแล้วย่อมไม่อาจเรียกคืนหรือให้กลับนำมาหักชำระต้นเงินได้อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยที่ 3 หรือที่ 4 พร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ ต่อมาปี 2529 มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการที่มีอำนาจลงนามกระทำการแทนจำเลยที่ 1 คือ ให้จำเลยที่ 4 กับที่ 5 มีอำนาจลงนาม พร้อมทั้งประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าโจทก์มีหนี้สินค้างชำระโจทก์อยู่ 3 ประเภท คือประเภทแรกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีประเภทสองหนี้กู้ยืม และประเภทสามหนี้ตามสัญญาขายลดเช็ค คิดถึงวันฟ้องจำเลยทั้งหกเป็นหนี้โจทก์ทั้ง 3 ประเภท เงินต้น 10,111,994บาท ดอกเบี้ย 6,882,144.21 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 16,994,138.81 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน 11,375,914.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 6,010,650 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,618,244.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 4,101,344.60 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งหกไม่ชำระหนี้และไม่ไถ่ถอนจำนองให้ยึดทรัพย์สินจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3481 และ 1566 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ หากขายทรัพย์จำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม นางประไพ อากาศวิภาต ผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกันชำระเงินจำนวน12,334,653 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 9,998,089.27 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3481 และ 1566 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ในวงเงิน 8,000,000 บาท หากบังคับจำนองขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และคำขออื่นให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 6 ชำระเงินจำนวน8,307,422.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัญญารับสภาพหนี้และร่วมรับผิดชดใช้หนี้สินเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความในข้อ 1 และข้อ 2 ว่า จำเลยที่ 1 มีหนี้สินเบิกเงินเกินบัญชี สัญญาขายลดเช็ค และกู้ยืมเงิน ค้างชำระอยู่แก่โจทก์ในวันที่ 31 ตุลาคม 2529 เป็นต้นเงินจำนวน 8,010,650 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 1,987,439.27 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น9,998,089.27 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ยินยอมรับผิดใช้หนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2529 โดยหนี้สัญญาขายลดเช็คจะผ่อนชำระเดือนละไม่ต่ำกว่า 45,000 บาท หนี้กู้ยืมเงินจะผ่อนชำระดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท หลังจากเดือนกรกฎาคม 2530 จะตกลงจำนวนเงินผ่อนชำระอีกครั้ง โดยต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละ 60,000 บาท และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจะนำเงินเข้าหมุนเวียนลดยอดหนี้ในบัญชีให้อยู่ในวงเงินตามสัญญาภายใน 6 เดือน หากผิดนัดชำระหนี้ตามเงื่อนไขดังกล่าวให้ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด ยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับได้ทั้งหมดทันที จึงเห็นได้ว่าเป็นแต่เพียงการที่ฝ่ายจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 แต่เพียงฝ่ายเดียวได้ยอมรับว่าเป็นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี สัญญาขายลดเช็คและสัญญากู้ยืมเงินอยู่แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ เป็นจำนวนเท่าใด และจะผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์อย่างไรภายในระยะเวลาเท่าใด โดยหาได้มีลักษณะเป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ดังนั้น สัญญารับสภาพหนี้และร่วมรับผิดชดใช้หนี้สิน ตามเอกสารหมาย จ.4 จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 แต่เป็นเพียงการรับสภาพหนี้เท่านั้น แต่เมื่อขณะทำสัญญาดังกล่าวได้มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เอกสารหมายจ.51 (แผ่นที่ 7 ที่ 8) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยหรือส่วนลดได้ไม่เกินร้อยละ15 ต่อปี การที่ทำสัญญารับสภาพหนี้กำหนดดอกเบี้ยกันไว้ร้อยละ 19 ต่อปี จึงไม่ชอบและตกเป็นโมฆะทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิย้อนกลับไปเรียกให้จำเลยทั้งหกรับผิดชำระดอกเบี้ยตามสัญญาเดิมได้อีก และเมื่อจำเลยที่ 1 ยังชำระหนี้ตามที่ตกลงทำสัญญารับสภาพหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ไม่เสร็จสิ้น หนี้เดิมยังไม่ระงับไป ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันยังมีอยู่ จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดชำระให้แก่โจทก์ด้วย
จำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระมีเพียงใดนั้น เห็นว่า ในขณะทำสัญญารับสภาพหนี้ดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยอยู่จำนวน 9,998,089.27 บาทหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในบัญชีเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.52 บัญชีเงินกู้เอกสารหมาย จ.54 และบัญชีขายลดเช็คเอกสารหมายจ.46 ถึง จ.50, จ.55 และ จ.56 ซึ่งตามบัญชีดังกล่าวเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระรวมทั้งสิ้นจำนวน 1,690,666.63 บาท เป็นการชำระดอกเบี้ยทั้งหมดไม่มีเหลือที่จะนำไปหักชำระต้นเงินเลย แม้จะเป็นการชำระดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อได้ชำระไปแล้วย่อมไม่อาจเรียกคืนหรือให้กลับนำมาหักชำระต้นเงินได้ ที่ศาลอุทธรณ์นำมาหักชำระต้นเงินนั้นเป็นการไม่ชอบ อนึ่ง ดอกเบี้ยยังมีค้างชำระแก่โจทก์อยู่ถึงจำนวน 2,336,563.70 บาทที่จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกาว่า ได้ชำระให้แก่โจทก์จำนวน 55,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.2 นั้น หากเป็นความจริงโจทก์คงนำไปหักชำระดอกเบี้ยหมดการชำระปกติจะนำเข้าบัญชีดังกล่าวไม่ปรากฏว่าทำหลักฐานเช่นนี้ไว้รายละเอียดก็ไม่มีว่าชำระหนี้อะไรผู้เซ็นรับเป็นใครก็ไม่ทราบ ลำพังหัวกระดาษระบุชื่อธนาคารโจทก์จะฟังว่าเป็นการชำระหนี้ให้แก่โจทก์หาได้ไม่ ปัญหาว่าการนำสืบเอกสารหมาย ล.2 ชอบด้วยวิธีพิจารณาความหรือไม่ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกาว่า จำเลยที่ 5 ได้ชำระหนี้เช็คตามสัญญาขายลดเช็คฉบับที่ 2 จำนวน 150,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.3และ ล.4 นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยฎีกา ฉะนั้น หนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้และร่วมรับผิดชดใช้หนี้สินตามเอกสารหมาย จ.4 คงเหลืออยู่จำนวน 9,848,089.27 บาท ซึ่งจำเลยทั้งหกต้องร่วมกันรับผิดชำระให้แก่โจทก์ สำหรับดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามฟ้องโจทก์เรียกร้องให้จำเลยทั้งหกชำระไม่ได้ จำเลยทั้งหกคงรับผิดชำระดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปเท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน 9,848,089.27 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์