คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 493/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กับพวกได้รับอนุญาตให้ตัดฟันไม้ในป่าโดยโจทก์ได้ชำระค่าภาคหลวงจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นป่าไม้เขต ได้ออกตรวจและตีตรายึดไม้ที่โจทก์กับพวกตัดไม้ รวมทั้งไม้ 1021ท่อนที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนายอำเภอสั่งให้นายดวงสอนตรวจวัดไม้และตีตราเพื่อชำระค่าภาคหลวงให้โจทก์ไม้จำนวน 1021 ท่อนนี้ถูกจำเลยที่ 5 ยึดไว้รวมกับไม้อื่นๆที่โจทก์กับพวกตัดฟันและยังไม่ได้ตรวจตีตรา ไม้ 1021ท่อนได้สูญหายไปหมดสิ้นดังนี้ถ้าจำเลยที่ 5 มิได้สั่งยึดไม้รายนี้ไว้และไม้รายนี้มิได้สูญหายไปในระหว่างที่ถูกจำเลยที่ 5 ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1 ยึดไว้แล้ว การทำไม้ก็เป็นอันสมบูรณ์ แต่ไม้รายนี้ได้ทำถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่จำเลยที่ 5 ได้มีคำสั่งให้ยึดไว้รวมกับไม้รายอื่นที่โจทก์ทำผิดแล้วไม่ถอนคืนให้โจทก์ต่อมาไม้ได้สูญหายไปในระหว่างถูกจำเลยที่ 5 สั่งยึดและการสูญหายก็อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ด้วยดังนี้ จะถือว่าการทำไม้สมบูรณ์แล้วหาได้ไม่การทำไม้รายนี้เป็นการทำโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว.แต่โจทก์ไม่ได้ไม้ไปจำเลยจึงไม่มีอำนาจเอาเงินค่าภาคหลวงของโจทก์ไว้ โดยที่มิใช่เรื่องละเมิด จำเลยที่ 1 ผู้เดียวจึงต้องคืนเงินค่าภาคหลวงที่เก็บไปแล้วแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2-5 ไม่ต้องรับผิด

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าโจทก์กับพวกได้รับอนุญาตให้ตัดฟันไม้กระยาเลยในป่าโจทก์ได้ชำระค่าภาคหลวงล่วงหน้าไปแล้วจำนวน 960 บาท โจทก์และนายชุ่ม แสนโคตร ได้ตัดฟันไม้ตามใบอนุญาตนั้นแล้วได้ไม้รวม 3804 ท่อน โจทก์ได้นำเงินมัดจำเพื่อให้เจ้าพนักงานไปตีตราคำนวณค่าภาคหลวงจำนวน 30,000 บาท ไปวางที่นายอำเภอเชียงดาว นายอำเภอเชียงดาวได้สั่งให้นายดวงสอน มหากัญธา ตรวจวัดไม้และตีตราเพื่อชำระค่าภาคหลวงไว้ให้โจทก์ได้จำนวน 1021 ท่อนก็พอดีจำเลยที่ 5 ซึ่งขณะนั้นเป็นป่าไม้เขต จังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกไปตรวจและตีตรายึดไม้ที่โจทก์และนายชุ่ม แสนโคตร ตัดไว้ทั้งหมดรวมทั้งไม้ 1021 ท่อนที่นายดวงสอนได้ตรวจวัดตีตราแล้วนั้นด้วย

ต่อมาโจทก์และนายชุ่ม แสนโคตร จึงถูกจับและสั่งฟ้องศาลจังหวัดเชียงใหม่แต่ในการฟ้องหาได้ฟ้องโจทก์กับนายชุ่ม แสนโคตร เกี่ยวกับไม้ 1021 ท่อน ที่ป่าไม้อำเภอเชียงดาวได้ตรวจและตีตราค่าภาคหลวงแล้วแต่อย่างใดไม่ ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำคุกโจทก์และนายชุ่ม โจทก์ได้ร้องต่อจำเลยที่ 3 ขอคืนเงินมัดจำค่าภาคหลวงจำนวน 30,000 บาท และเงินค่าภาคหลวงล่วงหน้าอีก 960 บาทและค่าเสียหายเนื่องจากไม้ที่โจทก์ตัดฟันไว้ 3804 ท่อน ซึ่งจำเลยที่ 5 เป็นผู้ทำการรักษาไว้ในระหว่างตีตรายึดได้ผุพังไปถูกไฟป่าไหม้และสูญหายไปจนหมดสิ้น ทั้งนี้ เพราะจำเลยไม่ปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับและระเบียบแบบแผน ได้ปฏิบัติราชการด้วยความประมาทเลินเล่อ จำเลยจึงมีหน้าที่คืนเงินค่าภาคหลวงล่วงหน้า960 บาท เงินค่ามัดจำค่าภาคหลวง 30,000 บาทให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อไป นับแต่วันที่ 24 เมษายน 2499 ซึ่งถือว่าจำเลยผิดนัดจนถึงวันฟ้อง แต่โจทก์ขอคิดเอาเพียง 5 ปีเป็นเงิน 11,250 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 42,210 บาท

จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ โจทก์กับพวกไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าภาคหลวงล่วงหน้าที่ได้นำมาวางคืน

คู่ความรับกันว่าเงินมัดจำการตรวจตีตราไม้เก็บค่าภาคหลวง 30,000 บาท ที่โจทก์ชำระให้แก่เจ้าหน้าที่อำเภอเชียงดาวนั้นเป็นเงินมัดจำสำหรับให้ไปตรวจตีตราไม้ ไม้ที่ได้ตรวจตีตราเพื่อเรียกเก็บค่าภาคหลวงแล้วนั้นมีรวมทั้งหมด 1021 ท่อน ไม้จำนวนนี้ได้ถูกจำเลยที่ 5 ผู้มีตำแหน่งป่าไม้เขตเชียงใหม่ยึดไว้ระหว่างวันที่ 12 ถึง 20 มกราคม 2499 รวมกับไม้อื่น ๆ ที่โจทก์และนายชุ่ม แสนโคตร ตัดฟันและยังไม่ได้ตรวจตีตรา ขณะนั้นไม้ 1021 ท่อน ได้สูญหายไปหมดสิ้นแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินมัดจำการตรวจตีตราเพื่อเก็บค่าภาคหลวงตามส่วนไม้ของโจทก์จำนวน 2,450 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 24 เมษายน 2499 เป็นต้นมาเป็นเวลา 5 ปี และนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระเงินค่าภาคหลวงล่วงหน้าจำนวน 290 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 28 มกราคม 2506 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ด้วย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าจำเลยที่ 5 มิได้สั่งยึดไม้รายนี้ไว้ และไม้รายนี้มิได้สูญหายไปในระหว่างที่ถูกจำเลยที่ 5 ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ยึดไว้แล้วการทำไม้ก็เป็นอันสมบูรณ์ แต่ไม้รายนี้ได้ทำถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่จำเลยที่ 5 ได้มีคำสั่งให้ยึดไว้รวมกับไม้รายอื่นที่โจทก์ทำผิดแล้วไม่ถอนคืนให้โจทก์ ต่อมาไม้ได้สูญหายไปในระหว่างถูกจำเลยที่ 5 สั่งยึด และการสูญหายก็อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนี้ จะถือว่าการทำไม้สมบูรณ์แล้วหาได้ไม่ การทำไม้รายนี้เป็นการทำโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้วแต่โจทก์ไม่ได้ไม้ไป จำเลยจึงไม่มีอำนาจเอาเงินค่าภาคหลวงของโจทก์ไว้โดยที่มิใช่เป็นเรื่องละเมิด จำเลยที่ 1 ผู้เดียวจึงต้องคืนเงินค่าภาคหลวงที่เก็บไปแล้วแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2-5 ไม่ต้องรับผิด ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้ง 5 รับผิดคืนเงินดังกล่าวให้โจทก์นั้นจึงยังไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำการตรวจตราเพื่อเก็บค่าภาคหลวงจำนวน 2,450 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 24 เมษายน 2499 เป็นต้นมา เป็นเวลา 5 ปี และนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาคหลวงล่วงหน้าจำนวน 290 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 28 มกราคม 2506 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ด้วย ยกฎีกาของจำเลยที่ 1 เสียยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2-5

Share