คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4928/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 30 ได้บัญญัติให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ริบเป็นทรัพย์สินของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดต้องยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง และพิสูจน์ว่าผู้ที่ร้องเข้ามาไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิด และจะมีการนำทรัพย์สินของผู้ร้องไปใช้ในการกระทำความผิดดังนั้น เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ริบรถยนต์ของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปราม ยาเสพติด ตามมาตรา 30,31 ต่อมาได้มีการประกาศ ในหนังสือพิมพ์รายวันเพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็น เจ้าของทรัพย์สินของกลางดังกล่าวซึ่งมีความประสงค์ จะคัดค้านได้ยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีแล้ว และศาลชั้นต้น มีคำสั่งให้นัดไต่สวนพร้อมไปกับสืบพยานโจทก์และจะมีคำสั่ง ในคำพิพากษา ซึ่งในคดีดังกล่าวผู้ร้องซึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 2 ได้ให้การปฏิเสธและนำสืบพยานว่ารถยนต์ของกลาง เป็นของจำเลยที่ 2(ผู้ร้อง) จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้ดำเนินการ ขอให้ริบรถยนต์ของผู้ร้องตาม พระราชบัญญัติมาตรการ ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30,31 และผู้ร้องได้เข้ามา ในกระบวนการที่กำหนดในมาตรา 30 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว การจะริบรถยนต์ของกลางของผู้ร้องจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ ที่บัญญัติเรื่องการริบทรัพย์สินของกลางในคดีความผิด เกี่ยวกับยาเสพติดไว้โดยเฉพาะ กล่าวคือ ถ้าเป็น ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ก็ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง และในกรณีที่ปรากฏเจ้าของแต่เจ้าของไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดและจะมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินดังกล่าวตามมาตรา 30 วรรคสองดังนั้น เมื่อต่อมาในคดีดังกล่าวศาลฎีกาวินิจฉัยว่ารถยนต์ของกลางของผู้ร้องเป็นยานพาหนะที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ริบรถยนต์ของกลางของผู้ร้องแล้วผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางเป็นคดีนี้อีก ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 วรรคสาม ตอนท้าย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษโดยจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 (ผู้ร้อง) ส่วนรถยนต์เก๋งของกลางทั้งสองคันให้ริบ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 7ว-6323 กรุงเทพมหานคร ของกลางซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่งที่ถูกริบ ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ของผู้ร้องไปบรรทุกยาเสพติดให้โทษ ขอให้ศาลมีคำสั่งคืนรถยนต์คันดังกล่าวแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีภายหลังการไต่สวนพยานผู้ร้องแล้ว
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะขอคืนรถยนต์เก๋งยี่ห้อเบนซ์หมายเลขทะเบียน 7ว-6323 กรุงเทพมหานคร ของผู้ร้องหรือไม่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2536จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ของกลางของผู้ร้องไปบรรทุกเฮโรอีน ระหว่างทางถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมด้วยเฮโรอีนต่อมาผู้ร้องถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโดยกล่าวหาว่าร่วมกับจำเลยที่ 1มีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมยึดรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6ฉ-3113กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 1 และรถยนต์หมายเลขทะเบียน7ว-6323 กรุงเทพมหานคร ของผู้ร้อง เป็นของกลาง ต่อมาโจทก์ได้ยื่นฟ้องผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ในความผิดที่กล่าวหาและขอให้ริบรถยนต์ของกลางทั้งสองคัน ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534มาตรา 30, 31 ต่อมาโจทก์แถลงว่าเจ้าพนักงานได้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันเพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลางดังกล่าวซึ่งมีความประสงค์จะคัดค้านได้ยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าให้นัดไต่สวนพร้อมกับสืบพยานโจทก์และมีคำสั่งในคำพิพากษาต่อไปและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง และริบรถยนต์ของกลางทั้งสองคันตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องและไม่ริบรถยนต์ของกลางศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 (ผู้ร้อง)รถยนต์ของกลางทั้งสองคันไม่ริบ โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2(ผู้ร้อง) และริบรถยนต์ของกลางทั้งสองคัน ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาคดีถึงที่สุดให้จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 (ผู้ร้อง) ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนรถยนต์ของกลางทั้งสองคันเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31 ให้ริบตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นว่าพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 บัญญัติว่า”บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ ที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่”วรรคสองบัญญัติว่า “ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้นเพื่อขอให้ริบทรัพย์สิน ให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง และในวรรคสามบัญญัติว่า “ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดอ้างตัวเป็นเจ้าของก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือในกรณีที่ปรากฏเจ้าของแต่เจ้าของไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดและจะมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินดังกล่าวได้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันแรกของวันประกาศในหนังสือพิมพ์รายวัน และในกรณีนี้มิให้นำมาตรา 36 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ” ดังนี้เห็นว่า พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดดังกล่าวให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ริบเป็นทรัพย์สินของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจะต้องยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง และพิสูจน์ว่าผู้ที่ร้องเข้ามาไม่มีโอกาสทราบ หรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดและจะมีการนำทรัพย์สินของผู้ร้องไปใช้ในการกระทำความผิดเมื่อคดีดังกล่าวข้อเท็จจริงปรากฏว่า พนักงานอัยการโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ริบรถยนต์ของกลางทั้งสองคันให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31 และต่อมาได้มีการประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันเพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลางดังกล่าวซึ่งมีความประสงค์จะคัดค้านได้ยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีแล้ว และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวนพร้อมไปกับสืบพยานโจทก์และจะมีคำสั่งในคำพิพากษา ซึ่งในคดีดังกล่าวผู้ร้องซึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 2 ได้ให้การปฏิเสธขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องและนำสืบพยานว่ารถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ว-6323กรุงเทพมหานคร เป็นของจำเลยที่ 2 (ผู้ร้อง) จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้ดำเนินการขอให้ริบรถยนต์ของผู้ร้องตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31 และผู้ร้องได้เข้ามาในกระบวนการที่กำหนดในมาตรา 30 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วซึ่งการจะริบรถยนต์ของกลางของผู้ร้องนั้น ต้องบังคับตามมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 30 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติเรื่องการริบทรัพย์สินของกลางในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไว้โดยเฉพาะกล่าวคือ ถ้าเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ก็ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่งและในกรณีที่ปรากฏเจ้าของ แต่เจ้าของไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนไม่มีโอกาสทราบ หรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่า จะมีการกระทำความผิด และจะมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิด ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินดังกล่าว ตามมาตรา 30 วรรคสาม ดังนั้น เมื่อต่อมาในคดีดังกล่าว ศาลฎีกาได้ฟังข้อเท็จจริงว่า รถยนต์ของกลางของผู้ร้องเป็นยานพาหนะที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ริบรถยนต์ของกลางของผู้ร้องแล้วผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางเป็นคดีนี้อีกตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 วรรคสาม ตอนท้าย
พิพากษายืน

Share