แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะเป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลล. ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน และยังได้รับเงินจากการรักษาคนไข้ในโรงพยาบาล ล. นอกเวลาทำงานปกติ รายได้ในส่วนหลังจะต้องแบ่งเข้าโรงพยาบาล ล. ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 อย่างสูงไม่เกินร้อยละ 80จึงเป็นรายได้ที่โจทก์ได้รับจากคนไข้ ที่โจทก์รับมาทำการรักษาโดยโจทก์ใช้สถานที่ของโรงพยาบาล ล. มิใช่เงินที่โรงพยาบาลจ่ายให้เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่โจทก์ ดังนี้ จึงเป็นเงินที่โจทก์ได้รับมาจากการประกอบวิชาชีพอิสระตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40(6)มิใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเขตท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ของจำเลย และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กับขอให้งดเรียกเงินเพิ่มหรือเบี้ยปรับ และให้จำเลยคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมและเงินเพิ่มที่เกรียกเก็บจากโจทก์เป็นเงิน 90,672.55 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์นั้นเจ้าพนักงานประเมินได้ดำเนินการโดยชอบแล้ว
ศาลภาษีอากรกลางพิพากาาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ 5014-1-08563 ลงวันที่ 15มิถุนายน 2530 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยในเขตท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่21/2531 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2531 ให้จำเลยคืนเงิน 90,671.55 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยอุทธรณืต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะ โดยประกอบวิชาชีพเป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลลานนา ซึ่งเป็นของบริษัทเชียงใหม่ธุรกิจการแพทย์ จำกัด ในปีภาษี พ.ศ. 2529 โจทก์ได้รับค่าจ้างจากโรงพยาบาลลานนา 251,132 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังได้รับเงินจากภารรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลลานนา นอกเวลาทำการตามปกติของโจทก์ 337,653 บาท โจทก์ได้เสียภาษีในเงินได้พึงประเมินทั้งหมดโดยถือว่าเงินที่ได้รับค่าจ้างจากโรงพยาบาลลานนา 251,132 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(1) และเงินที่ได้รับจากการรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลลานนา นอกเวลาทำการตามปกติจำนวน 337,653 บาทเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าเงินได้ที่โจทก์ได้รับจากการรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลลานนา นอกเวลาทำการปกติของโจทก์จำนวน 337,653 บาทเป็นเงินได้พึงประเมินตามาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเพิ่ม รวมทั้งเงินเพิ่ม 90,320 บาท โจทก์ได้เสียภาษีเพิ่มในจำนวนดังกล่าวแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยว่า เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากการรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลลานนา นอกเวลาทำการปกติของโจทก์เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) หรือมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร เห็นว่าเงินได้ส่วนนี้พยานโจทก์มีตัวโจทก์และนายประวิทย์ อัครชิโนเรศ เบิกความตรงกันว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของโรงพยาบาลลานนา ได้รับค่าจ้างเดือนละ 19,110 บาท และทางโรงพยาบาลตกลงให้โจทก์เปิดคลินิกพิเศานอกเวลาทำการตามปกติในโรงพยาบาลลานนาได้ โดยแบ่งรายได้เข้าโรงพยาบาลลานนาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20อย่างสูงไม่เกินร้อยละ 80 ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.6 ฝ่ายจำเลยไม่มีพยานหลักฐานนำสืบหักล้างว่า เอกสารหมาย จ.6 มิได้ทำกันไว้จริง ทั้งไม่มีเพยานหลักฐานใดมานำสืบให้เห็นว่าโรงพยาบาลลานนา จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์เป็นเงินเดือน หรือค่าจ้าง คงมีแต่นายสง่าล้ิมพัฒนาชาติ เจ้าหน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นผู้ตรวจแบบแสดงรายการเสียภาษีของโจทก์เบิกความให้ความเห็นว่า โจทก์เป็นแพทย์โดยได้รับเงินเดือนจากโรงพยาบาลลานนา และยังได้รับเงินในการปฏิบัติงานนอกเวลาอีกจำนวนหนึ่ง จึงถือว่าเป็นค่าจ้างที่โรงพยาบาลจ่ายให้พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลย รับฟังได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวโจทก์ได้รับจากคนป่วยซึ่โจทก์รับมาทำการรักษาโดยโจทก์ใช้สถานที่ของโรงพยาบาลลานนา เมื่อได้เงินมาแล้วก็แบ่งส่วนให้โรงพยาบาล มิใช่เป็นเงินที่โรงพยาบาลจ่ายให้เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่โจทก์ เงินที่โจทก์ได้รับจากคนป่วยที่มารักษาที่โรงพยาบาลลานนา นอกเวลาทำการปกติของโจทก์ จึงเป็นเงินที่โจทก์ได้รับมาจากการประกอบวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลปะซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) มิใช่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร…”
พิพากษายืน.